วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

 
 
 
เทคนิคการเล่นแบบ 2 ต่อ 1 เพิ่มเติม..2  
 
 

 
                                       การเล่นผู้เล่นฝ่ายรุกหมายเลข 2 อาจจะหนีตัวประกบลงมาเพื่อรับบอลได้ แต่ตัวประกบติดตามมาได้ประกบเร็วจนไม่สามารถพาบอลหลบหลีกได้โดยง่าย
 

 
                                         ดังนั้นจึงต้องพยายามครองบอลไว้ แล้วให้ดูเพื่อนร่วมทีมว่า จะเคลื่อนที่มาสนับสนุนการเล่นอย่างไร ซึ่งผู้เล่นหมายเลข 1 ควรรีบวิ่งตามบอลที่ส่งไปให้อย่างเร็ว แล้วให้สัญญาณเพื่อนร่วมทีมว่าจะวิ่งไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาที่เป็นช่องว่าง เพื่อต้องการให้ส่งบอลมาให้
 
 
                                         เมื่อได้รับบอลแล้วให้เลี้ยงพาบอลทะลุผ่านช่องว่างระหว่างผู้เล่นฝ่ายรับกับมาร์คเกอร์ไปอย่างเร็ว
 
 


วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

 
 
 
เทคนิกการเล่นแบบ 2 ต่อ 1เพิ่มเติม
 

 
                                         การเล่นในสถานะการณ์ 2ต่อ1นั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับโอกาสที่คู่ต่อสู้เปิดจุดอ่อนให้ เช่นแบบฝึกตัวอย่างดังนี้ จากภาพผู้เล่นฝ่ายรุกคนที่ 2 เคลื่อนที่หนีการประกบตัวของฝ่ายรับออกมาทางด้านข้างเพื่อรับบอลจากการส่งมาของผู้เล่นฝ่ายรุกคนที่ 1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อคู่ต่อสู้ตามมา พื้นที่ของสนามอีกด้านหนึ่งจะเปิดเป็นที่ว่างมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นฝ่ายรุกคนที่ 1 เคลื่อนที่ขึ้นมาช่วยสนับสนุนการเล่นเพื่อสร้างความได้เปรียบ
 

 
                                      บางครั้งเราอาจจะครอบครองบอลได้แต่ไม่ดีเท่าที่ควรจึงไม่สามารถพาบอลกระชากเลี้ยงบอลผ่านหรือทำชิ่งบอล 1-2 ผ่านได้อย่างที่คิด ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยผู้ล่นหมายเลข 2 ที่ครองบอลควรเลี้ยงบอลหลบผ่านคู่ต่อสู้ย้อนกลับไปอีกด้านหนึ่งของสนามเพื่อดึงคู่ต่อสู้ให้ตามมาเพื่อเปิดพื้นที่ว่างใหม่และหาช่องทางในการเล่นแบบอื่นที่ได้เปรียบกว่า 
 
                                     
                                         ผู้เล่นหมายเลข 1 ต้องอ่านเกมส์ว่าต้องทำอย่างไรเพราะถ้าไม่เคลื่อนที่จากพื้นที่เดิมไปมิฉะนั้นคู่ต่อสู้จะเกิดความได้เปรียบที่สามารถคุมสถานะการณ์ได้ทั้งคุมคนและคุมพื้นที่ได้
 
 
                                         ผู้เล่นหมายเลข 1 ควรวิ่งอ้อมหลังผู้เล่นที่ครองบอลไปอีกด้านหนึ่งทันที เพื่อเปิดช่องทางการเล่นและทำให้ฝ่ายรับสับสน เมื่อมีโอกาสที่ดีผู้เล่นที่ครองบอลสามารถส่งบอลทะลุผ่านไปให้เพื่อนหมายเลข 2 วิ่งโฉบพาบอลไป แต่ต้องทำก่อนที่เพื่อนจะเคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า
 
 
 
 
 


วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การสร้างความได้เปรียบในการเล่น
ภาพจาก www.clipslike.com
                                         ในสถานะการณ์การเล่นและแข่งขันจริง เราสามารถเลือกเทคนิคและวิธีเล่นที่สร้างความได้เปรียบให้เหนือคู่ต่อสู้ได้ โดยนักฟุตบอลผู้นั้นต้องคิดและตัดสินใจอย่างรวดเร็วว่าจะเลือกวิธีการเล่นอย่างไรในขณะที่ครองบอลอยู่แล้วเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่กำลังจะเข้ามาแย่งบอลไป ปกติเรามีทักษะและเทคนิคในการเล่นเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้แบบ 1ต่อ1 อยู่แล้ว สามารถนำมาใช้ได้เลย แต่ถ้าประเมินแล้วเห็นว่าคู่ต่อสู้มีความสามารถดีเราน่าจะเอาชนะได้ยาก หรือมองเห็นว่าเพื่อนร่วมทีมของเรามีโอกาสที่ดีกว่า เราอาจตัดสินใจเลือกการเล่นที่เหมาะกว่าเมื่อคู่ต่อสู้พุ่งเข้ามาเพื่อแย่งบอลจากเรา โดยเรารีบส่งบอลไปให้เพื่อนร่วมทีมที่ว่างอยู่เล่นทันที ในลักษณ์การเล่นแบบ 2ต่อ1 ทำให้สามารถพาบอลทะลุผ่านคู่ต่อสู้ไปได้โดยง่าย 



                            การฝึก ทำในพื้นที่ 10x20 หลา ใช้ผู้เล่นฝ่ายรุก 2 คน ฝ่ายรับ 1 คน
                            วิธีฝึก ฝ่ายรุกที่ถูกฝ่ายรับประกบ ต้องเคลื่อนที่หนีการประกบไปทางด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งเพื่อรับบอลจากเพื่อนแล้วพยายามครองบอลหันเข้าหาคู่ต่อสู้ เพื่อหาโอกาสว่าควรจะเล่นวิธีใดดีที่สุด ส่วนฝ่ายรุกที่ส่งบอลให้แล้วต้องเคลื่อนที่ไปสนับสนุนการเล่นของเพื่อนโดยวิ่งเปิดทางออกไปด้านตรงกันข้าม เพื่อสร้างโอกาสและเปิดพื้นที่ในการเล่นให้เพิ่มมากขึ้น
 

                              ผู้ที่ครองบอลต้องดูที่ผู้เล่นฝ่ายรับว่า จะเข้ามาป้องกันได้ทันหรือไม่ (1)ถ้าเห็นว่าไม่ทันให้กระชากบอลเลี้ยงทะลุผ่านคู่ต่อสู้ไปหรือ  (2)เมื่อเห็นว่าคู่ต่อสู้เข้ามาป้องกันใกล้มากทำให้ไม่มั่นใจว่าจะหลบหลีกผ่านไปได้ แสดงว่าเพื่อนร่วมทีมจะว่างและมีโอกาสมากกว่า ดังนั้นควรส่งบอลให้เพื่อนโดยทันทีเพื่อเล่นแบบ 2ต่อ1 สร้างความได้เปรียบในการเล่นมากขึ้น เมื่อผู้เล่นนั้นได้รับบอลแล้วให้รีบเลี้ยงบอลทะลุผ่านไปโดยเร็ว



                                 หรือสถานการณ์เปลี่ยน (ดังภาพ) คู่ต่อสู้อาจจะอ่านความคิดเราได้ จะเคลื่อนตัวตามบอลกลับไปเพื่อป้องกันฝ่ายรุกอีกคนหนึ่ง ดังนั้นผู้เล่นคนนั้นไม่ควรครองบอลไว้ ควรใช้ทักษะเทคนิคการเล่น แบบชิ่งบอล 1-2 (Wall pass) ส่งบอลทะลุผ่านฝ่ายรับคืนให้ผู้เล่นฝ่ายรุกคนแรกวิ่งโฉบมาและพาบอลผ่านไป  เทคนิคการเล่นนี้จะทำให้คู่ต่อสู้พะวงและทำให้การป้องกันการรุกทำได้ไม่ดี ผู้เล่นฝ่ายรุกจะเล่นได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เคล็ดลับเฉพาะตัวเพื่อรุกผ่านคู่ต่อสู้
ภาพจาก www.sport-idol.com
 
                                       ในเกมส์การเล่นและแข่งขันฟุตบอล แม้ว่าแต่ละฝ่ายจะมีผู้เล่นฝ่ายละ 11 คนก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าสถานะการณ์ที่มีผู้เล่นครอบครองบอลอยู่จะมีคู่ต่อสู้อย่างน้อย 1 คนเข้ามาเพื่อแย่งบอล การเล่นในลักษณะ 1ต่อ1จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทักษะและเทคนิคการเล่น1ต่อ1จึงมีความจำเป็นมากสำหรับนักฟุตบอลทุกคน ดังนั้นจึงต้องฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นความชำนาญและมีความมั่นใจ ไม่ตกใจเมื่อต้องเผชิญหหน้ากับคู่ต่อสู้
                                       ข้อเตือนใจที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถพาบอลผ่าน เอาชนะคู่ต่อสู้ได้เสมอ หรือเคล็ดที่ไม่ลับมีดังนี้ 
                                      1.เน้นใช้พื้นที่ด้านกว้าง
                                        2.หาทาง ลวงเพื่อหลอก
                                        3.เลี้ยงหลบคู่ต่อสู้
                                        4.ไม่ต้องรอดูผลงาน กระชากผ่านสู่เป้าหมาย
                                    



                              ผู้เล่นฝ่ายรุกจำเป็นต้องหลอกให้ฝ่ายรับเปิดพื้นที่ด้านใดด้านหนึ่งให้จงได้และพยายามฉกฉวยโอกาสเล่นในพื้นที่ดังกล่าวให้ได้ก่อน เพื่อความได้เปรียบในการเล่นต่อไป

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทำไมนักฟุตบอลของไทยยังมีมาตรฐานการเล่นต่ำกว่าทวีปยุโรป
ภาพจาก www.blog.livedoor.jp

                                      บางท่านสงสัยว่านักฟุตบอลของไทยที่เป็นเยาวชนอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นมายังเล่นดีไม่พอเมื่อเทียบกับประเทศทางยุโรป ทั้งๆที่สมัยที่เป็นเด็กอายุประมาณ 12-13 ปี เคยส่งไปแข่งขันที่ประเทศสวีเดน ในรายการโกเธียร์คัพ ได้รับรางวัลชนะเลิศมาหลายๆครั้งแต่ไม่สามารถพัฒนาและรักษามาตรฐานไว้ได้จะเห็นผลงานต่อๆมาจะลดลงเหลือแค่ผลงานในระดับกลุ่มอาเซี่ยนเท่านั้น
                                      ที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการดังนี้ ประการแรก คือช่วงอายุ 12 ปีที่ไปแข่งเราเตรียมทีมโดยการเน้นให้เด็กเล่นทีมเพื่อแข่งขันมาโดยตลอด เด็กจึงมีทักษะ มีความเข้าใจการเล่นมากกว่าและมีความสัมพันธ์ในทีมมากกว่าเด็กในทวีปยุโรป ซึ่งเขาจะอยู่ในช่วงการเน้นพัฒนาทักษะทุกๆอย่างเพื่อให้เกิดความชำนาญมากที่สุดตามสภาพของการพัฒนาการในแต่ละวัย จึงเน้นการเล่นทีมไม่มากนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเด็กเหล่านี้มีทักษะพื้นฐานดีแต่การนำทักษะมาใช้ในการแข่งขันยังไม่ดีนักจึงทำให้ผลการแข่งขันสู้เด็กไทยไม่ได้ ประการที่ 2 ผู้ปกครองและโค้ชของไทยบางท่าน อาจจะเข้าใจไม่ชัดเจนและใจร้อนเกินไป มักจะเร่งลัดแบบก้าวกระโดดเร็วเกินไป เมื่อเห็นว่าเด็กมีทักษะพื้นฐานสามารถ จับ- รับ-ส่ง-โหม่ง-เลี้ยงบอลได้แล้วจะเน้นไปที่การเล่นเกมส์แข่งขัน ต้องการเห็นผลงานคือชัยชนะและถ้วยรางวัลที่จะได้รับ ซึ้งถ้าเด็กเหล่านี้สามารถทำได้ผู้ปกครองก็ภูมิใจ แต่ลืมไปว่าในวัยเด็กช่วงนี้เด็กกลุ่มอื่นๆอาจจะมีโอกาสได้ฝึกทักษะและเกมส์การเล่นน้อยกว่าหรือแทบจะไม่มีโอกาสเลยจึงทำให้เด็กกลุ่มนี้มีทักษะและประสบการณ์น้อยกว่าด้วย เมื่อเข้าร่วมแข่งขันจะพ่ายแพ้ไปเป็นธรรมดา  แต่หลังจากนั้นมาเด็กที่พัฒนาทักษะพื้นฐานที่ละขั้นอย่างต่อเนื่องจะมีทักษะ เทคนิคและความชำนาญมากขึ้น อีกทั้งได้เรียนรู้และพัฒนาเกมส์การเล่นในสถานะการณ์ต่างๆอย่างเป็นระบบจึงทำให้เด็กกลุ่มดังกล่าวนี้มีศักยภาพการเล่นที่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานสากลมากกว่า เรามักจะพูดกันว่าทำไมนักกีฬาของไทยเล่นผิดพลาดบ่อยๆจับบอลไม่อยู่ ส่งบอลไม่แม่น ส่วนทีมเขาครองบอลดีไม่เสียบอลง่ายๆ ส่งบอลทั้งลูกเลียด ลูกโด่งแม่นยำ ยิงประตูได้เฉียบขาดเป็นต้น ดังนั้นถ้าผู้ปกครองและเด็กใจร้อนไม่อดทนและมุ่งมั่นตั้งใจฝึกทักษะพื้นฐานต่างๆให้แน่นแล้วเวลาที่ต้องฝึกด้านเทคนิคและแท็คติกการเล่นในระดับที่สูงขึ้น เด็กเหล่านี้จะไม่สามารถทำได้ดีสมบูรณ์แบบ ความสามรถจะไม่ค่อยดีศักยภาพของนักกีฬาก็จะไม่ถึงขั้นมาตรฐานสากล  ดังนั้นเด็กควรได้รับการฝึกทักษะและเทคนิคการเล่นตามลำดับขั้นอย่างเป็นระบบจะทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพเข้าสู่มาตรฐานระดับโลกได้

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แนวทางการฝึกฟุตบอลสำหรับเยาวชน

ภาพจาก www.mixmails.com
                                       โดยทั่วไปการฝึกฟุตบอลให้กับเด็กหรือเยาวชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วยแล้วที่หวังจะให้ลูกหลานตนเองเก่งหรือก้าวหน้าอย่างที่ต้องการ เลยลืมคิดไปว่าเด็กนั้นไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่มีขนาดร่างกายเล็กเท่านั้นน่าจะมีความสามารเล่นฟุตบอลได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่สภาพความเป็นจริงเด็กจะขีดความสามารถในการทำกิจกรรมและการรับรู้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามวุฒิภาวะการพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย ดังนั้นความสามารถของเด็กจึงมีความแตกต่างกันตามระดับอายุ ฉะนั้นผู้ปกครองไม่ควรใจร้อนให้เด็กพัฒนาแบบก้าวกระโดด ควรให้เด็กได้ดำเนินการฝึกเพื่อการพัฒนาทักษะและเทคนิคการเล่นทีละระดับอย่างเป็นขั้นตอน
                                        FIFA ได้ศึกษาการพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆพบว่าเด็กจะมีขีดความสามารถแตกต่างกันจึงได้แบ่งเด็กที่มีขีดความสามรถที่ใกล้เคียงกันไว้เป็นกลุ่มเดียวกันดังนี้   กลุ่ม  U-6 ,   U-8, U-10 ,  U-12,  U-14,  U-16,  U-18 และ U-20  เพื่อจัดกิจกรรมการฝึกให้เหมาะสม โดยจะเน้นพัฒนาทักษะพื้นฐานให้แน่นและเกิดความชำนาญทีละทักษะ และสร้างความเข้าใจเกมส์การเล่นทั้งรุก-รับ จากการเล่นกลุ่มเล็กๆขึ้นไปถึงการเล่นทีมใหญ่ (11 คน)  แนวทางการฝึกมีดังต่อไปนี้