วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2561



แนวคิดการพัฒนาฟุตบอลไทย..ให้คุ้มการลงทุน

ภาพจาก www.thaibev.com
                                  สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ลงทุนพัฒนาโค้ชไปแล้ว ผลการพัฒนาฟุตบอลไทยยังไม่ก้าวหน้าให้เห็นได้อย่างชัดเจน
                                    ขอร่วมด้วยช่วยคิด..แนวทางการพัฒนาให้คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนไปแล้ว การดำเนินการควรจะบูรณาการ แบบร่วมด้วยช่วยกัน คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆต้องมาทำ MOU เพื่อทำความร่วมมือช่วยกันเพื่อพัฒนาฟุตบอลไทย ดังนั้นจึงน่าจะเป็นแนวทางดังนี้
                                  1.สมาคมฟุตบอลฯต้องทำ MOU กับกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นต้น เพราะแต่ละองค์กรจะเกี่ยวข้องกับนักกีฬาฟุตบอลจำนวนมากทั่วประเทศ โดยให้ช่วยกำหนดเกณฑ์ความรู้ของโค้ชต้องผ่านการอบรมตั้งแต่ระดับ T-Licences, C-Licences ขึ้นไปทำหน้าที่ฝึกสอนนักกีฬา   เพื่อเข้าร่วมแข่งขันในกีฬานักเรียน   และกีฬาเยาวชนแห่งชาติ  กีฬามหาวิทยาลัยฯ และกีฬาแห่งชาติ ซึ่งจะปูพื้นฐานการเล่นกีฬาฟุตบอลให้ได้มาตรฐานสากล
                                  2.สมาคมฟุตบอลฯต้องวางกรอบรูปแบบแนวทางการเล่น ระบบและเทคติก การเล่นที่เหมาะสมกับคนไทย ไว้เป็นแนวทางพื้นฐานให้โค้ชและนักฟุตบอลเรียนรู้และพัฒนา
                                  3.สมาคมฟุตบอลฯต้องสนับสนุนการจัดการแข่งขันฟุตบอลในทุกระดับให้เป็นระบบสากล ควบคุมผู้ตัดสินให้ทำหน้าที่ได้ดีถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกมการเล่นเป็นไปตามมาตรฐานอีกด้วย
                                 4.สมาคมฟุตบอลฯต้องจัดตั้งศูนย์พัฒนาฟุตบอลของสมาคมฯประจำภาค 4-5ศูนย์ทั่วไทย และมีทีมงาน scout ไปเสาะหานักฟุตบอลดาวรุ่งแต่ละกลุ่มอายุเข้าสู่ศูนย์ฝึกเพื่อนำมาพัฒนาต่อไป
                                 5.สมาคมฟุตบอลฯจัดยุทธศาสตร์การพัฒนาประสบการณ์นักฟุตบอลประจำศูนย์พัฒนา โดยการประลองและแข่งขันอย่างสม่ำเสมอ คัดเลือกเพื่อจัดลำดับความสามารถนักฟุตบอลและนำไปพัฒนาต่อในศูนย์พัฒนาทีมชาติต่อไป
                                 6.สมาคมฟุตบอลฯควรจะให้การสนับสนุน อดีตนักฟุตบอลทีมชาติหรืออดีตนักฟุตบอลอาชีพ ที่ยังรักผูกพันกับกีฬาฟุตบอลที่ได้เข้ารับการอบรมเพื่อเป็นโค้ช Licences ระดับต่างๆ ให้ได้รับโอกาสทำหน้าที่โค้ชเพื่อพัฒนาเยาวชนกลุ่มต่างๆ โดยประสานกับการกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนดให้สมาคมกีฬาจังหวัดทุกจังหวัด รับบุคลเหล่านี้ไปเป็นโค้ชฟุตบอลของแต่ละจังหวัด เพราะโค้ชเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก อีกทั้งยังสามารถนำประสบการณ์ที่ดีมาถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นต่อไป อีกทั้งยังสนับสนุนให้พวกเขามีอาชีพที่เขารักรองรับอีกด้วย..
                                 7.สมาคมฟุตบอลฯควรจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดค่าตอบแทนรายเดือนขั้นต่ำ ในการปฏิบัติหน้าที่ของโค้ชที่ผ่านหลักสูตรโค้ช Licences ระดับต่างๆอย่างเหมาะสม เพื่อกำหนดตำแหน่งในการประกอบอาชีพต่อไป 
                                  การพัฒนาศักยภาพนักฟุตบอลของไทย ถ้าทำอย่างเป็นระบบจะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาก้าวไปสู่ระดับสากลได้ ฝันที่ไทยจะไปบอลโลกนั้นน่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก....
                                 

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561




การพัฒนาฟุตบอลต้องทำให้คุ้มทุน

ภาพจาก www.FA Thailand.org

                                  การบริหารงานของสมาคมฟุตบอลฯของไทยแต่ละสมัย จะมีแนวคิดการพัฒนาวงการฟุตบอลคล้ายๆกัน เช่นมีโครงการอบรมโค้ชให้มีความรู้ Licences ตามมาตรฐาน FIFA กำหนด แล้วมีโครงการพัฒนานักฟุตบอลทีมชาติแต่ละชุด
                                    ถ้าพิจารณาแบบเจาะลึก..จะพบว่าการพัฒนาที่ผ่านๆมานั้นมีผลสัมฤทธิ์ไม่คุ้มค่าการลงทุน และมาตรฐานการเล่นของทีมฟุตบอลไทยยังเล่นอยู่ในระดับอาเซี่ยนเหมือนเดิม ทั้งๆที่เรามีโค้ชที่ผ่านการอบรม Licences ระดับต่างๆเพิ่มมากขึ้น
                                 ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากสาเหตุต่อไปนี้
                                  1. บางคนที่ได้รับโอกาสเข้ารับการอบรมไม่ใช่ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ฝึกแและพัฒนานักกีฬาจริง เพราะคนพวกนี้ต้องการเพียงใบประกาศที่ผ่านการอบรมไปไว้ประดับบารมีเท่านั้น จึงมักจะหาช่องทางพิเศษเพื่อเข้าอบรมในทุกระดับเท่านั้น
                                  2. สมาคมฟุตบอลฯ ขาดแผนยุทธศาสตร์ในการควบคุม กำกับติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของโค้ชหลังการอบรมว่าที่ได้ทำจริง และมีผลการพัฒนางานอย่างไร
                                  3. สมาคมฟุตบอลฯ ขาดแผนยุทธศาสตร์การจัดกลุ่มและจัดอันดับความสามารถของโค้ชไว้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาคัดเลือกโค้ชมาใช้งาน และส่งเสริมให้พัฒนาความรู้เพิ่มขึ้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป
                                  4. สมาคมฟุตบอลฯ ขาดแผนยุทธศาสตร์การตั้งศูนย์ฝึกเพื่อพัฒนานักฟุตบอล 4-5 ศูนย์ไว้ทุกภาคทั่วประเทศ และศูนย์ฝึกทีมชาติที่ส่วนกลางอีก 1 ศูนย์ เพราะเป็นการขยายโอกาสให้เยาวชนที่อาจจะเป็นช้างเผือกในอนาคตให้ได้รับโอกาสพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มจำนวนนักฟุตบอลดาวรุ่ง ที่มีความสามารถดีในตำแหน่งต่างๆให้มีมากขึ้นด้วย และเป็นโอกาสดีให้นักฟุตบอลเหล่านั้นต้องแข่งขันกัน พัฒนาศักยภาพของตนให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
                                ซึ่งจะเห็นได้ว่า การลงทุนในการพัฒนาความรู้ให้บุคลากรเพื่อเป็นโค้ชไม่ใช่น้อย แต่ภาคภูมิใจเพียงปริมาณที่เพิ่มขึ้นของจำนวนโค้ชเท่านั้น ในความเป็นจริงยังไม่เพียงพอ..น่าจะต้องดูที่คุณภาพ ว่าโค้ชที่ผ่านการอบรมไปแล้วได้นำความรู้ไปใช้ พัฒนานักกีฬาในทุกระดับได้จริง และยกระดับมาตรฐานขีดความสามารถของนักฟุตบอลให้สูงขึ้นเทียบชั้นกับมาตรฐานสากล รวมถึงเพิ่มจำนวนนักฟุตบอลเหล่านี้ให้มีมากขึ้นด้วย เพื่อเป็นขุมกำลังที่สำคัญไว้ให้สมาคมฟุตบอลฯได้เลือกและนำไปใช้เป็นตัวแทนของทีมชาติในแต่ละชุดต่อไป...