วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559


ทำอย่างไรจึงจะเล่นฟุตบอลได้ดี??


 ภาพจาก www.footballsbo.com

                       หลายคนมีคำถามค้างอยู่ในใจที่ยังหาคำตอบไม่ได้ชัดเจน ว่าทำไมคนนั้นเล่นฟุตบอลเก่ง แล้วเราทำไมเล่นฟุตบอลไม่ดี เพื่อนๆมักจะบ่นว่าเราเสมอและไม่ต้องการรับเราเข้าไปเล่นร่วมทีมด้วย ซึ่งทำให้เกิดความคับข้องใจ
                                อันที่จริงมีความละเอียดอ่อนหลายๆอย่างที่เป็นองค์ประกอบในการเสริมศักยภาพที่ช่วยทำให้เล่นบอลเก่ง ไม่ว่าจะเป็นความมีวินัยที่ดี สมรรถภาพทางกายที่แข็งแก่รง มีทักษะการเล่นฟุตบอลที่ดี และความเข้าใจในการเล่นอย่างดีแล้วก็ตาม ยังมีเรื่องของไหวพริบ การตัดสินใจในการเลือกวิธีการเล่นที่เหมาะสมกับสถานการณ์อีกด้วย

    ภาพจาก www.clipmass.com

                              แม้ว่าเราได้ฝึกซ้อมจนมีทักษะดีมากๆแล้วก็ตาม มิใช่คิดเพียงนำทักษะนั้นไปใช้ได้ในทุกโอกาสอย่างที่เราอยากจะทำ ซึ่งจะมีลักษณะเหหมือนการแสดงเพื่อโชว์ความสามารถมากกว่าเพราะการเล่นฟุตบอลจะเป็นเกมที่เล่นกันเป็นทีม ถ้าผู้เล่นคนใดชอบเล่นแบบนี้เพื่อนร่วมทีมคงจะไม่ค่อยพอใจและทีมก็อาจจะไปไม่รอดเช่นกัน
               
ภาพจาก www.vcharkarn.com 

                             หรือผู้เล่นคนใดมีความตั้งใจฝึกซ้อมและสามารถทำได้ทุกอย่าง ตามแบบที่่โค้ชกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดมาก บางทีก็อาจจะมีผลดีแต่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเปรียบได้กับหุ่นยนต์ เพราะในเกมการเล่นจริงสถานะการณ์การเล่นมีการพลิกผันไปตลอดเวลา หุ่นยนต์จะทำอย่างที่โปรแกรมได้กำหนดไว้เท่านั้น ดังนั้นการมีไหวพริบและจินตนาการจะช่วยให้ผู้เล่นนั้นเล่นได้ทันเกมและสามารถสร้างสรรค์เกมให้เกิดความได้เปรียบมากกว่า ที่กล่าวมานี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ต้องสร้างให้มีไว้ในตัว
                               แต่ที่สำคัญมากและอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด คือเทคนิคการเล่นเฉพาะตัวของเราเอง 2 อย่าง ทั้งการเล่นขณะที่ครอบครองบอล และการเล่นขณะที่ไม่มีบอล ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่จะบ่งบอกได้เลยว่า ผู้เล่นคนนี้จะเล่นดีหรือเล่นเสียบ่อยๆจนโดนตำหนิ ในที่นี้จะขอกล่าวเป็นแนวทางแบบให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ถ้าผู้ใดนำไปใช้อย่างน้อยก็สามารถเอาตัวรอดในเกมการเล่นครั้งนั้นๆไปได้ หรือถ้าสามารถทำได้เหมาะกับสถานะการณ์ด้วยแล้ว การเล่นจะถูกยกระดับขึ้นมาอยู่ในขั้นดีเลยทีเดียว ซึ่งจะขอฝากเทคนิคการเล่นเฉพาะบุคคลไว้พัฒนาตนเองดังนี้
                            1.การเล่นขณะที่ครอบครองบอล..จะมีเทคนิคการเล่น หรือเคล็ดวิชาไว้เตือนตัวเองให้ปฏิบัติให้ได้ดังนี้
                              1.1.มองให้กว้าง
                              1.2.มีคนว่างส่งบอลไปให้
                              1.3.เมื่อส่งไม่ได้ให้เลี้ยงเพื่อครอบครองบอล แล้วกลับไปทำตั้งแต่ข้อ 1.1.ใหม่
                             หลักการคือต้องเน้นการเล่น 2 อย่างคือ ต้องไม่ทำบอลเสียเมื่อครอบครองบอลอยู่ และต้องพยายามส่งบอลไปให้เพื่อนร่วมทีมที่ว่างไม่มีใครประกบ เพื่อให้เขาเล่นได้ง่ายหรือสามารถเล่นในสถานการณ์ที่ได้เปรียบได้ยิ่งเป็นการดี ไม่ควรเล่นตามใจตัวเองเช่นเมื่อครองบอลแล้ว ก้มหน้าก้มตาเลี้ยงบอลไปเพื่อต้องการโชว์ความสามรถของตน พอจวนตัวเห็นท่าไม่ดีรีบส่งบอลให้พ้นตัวซึ่งอาจจะไปสร้างปัญหาให้คนอื่น หรือเลี้ยงบอลไปแต่ไม่สามารถผ่านคู่ต่อสู้ได้เสียการครอบครองบอลให้คู่ต่อสู้ไป ดังนั้นถ้าต้องการเล่นโดยไม่ผิดพลาดบ่อยๆ อาจจะบอกกับตัวเองเสมอๆในขณะที่ฝึกซ้อมหรือเล่นว่า "เมื่อได้ครองบอลต้อง มองให้กว้าง มีคนว่างให้ ถ้าไม่ได้ค่อยเลี้ยง"
                            2.การเล่นขณะที่ไม่มีบอล..จะเป็นเทคนิคการเล่น ที่หลายคนมองข้ามเพราะคิดว่าบอลไม่ได้อยู่กับเราหรือใกล้เราคงยังไม่ต้องทำอะไร อันที่จริงฟุตบอลสมัยใหม่ทุกตำแหน่งมีความสำคัญในเกมการเล่นตลอดเวลา ดังนั้นเทคนิคการเล่น หรือเคล็ดวิชาที่ใช้เตือนตังเองไว้ดังนี้
                           2.1.ทำตัวเองให้ว่าง
                           2.2.ทำทางให้เพื่อน
                           2.3.เคลื่อนตัวสนับสนุน
                            หลักการคือต้องเน้น การเคลื่อนที่เพื่อช่วยเพื่อนร่วมทีม โดยเราต้องพิจารณาว่าขณะนี้เราอยู่ ณ.บริเวณไหนในสนาม และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเกมช่วงนั้นได้อย่างไรบ้าง ดังนั้นถ้าเรายืนว่างอยู่ควรเรียกขอบอลจากเพื่อนที่มีบอล ถ้ายืนอยู่แต่มีคู่ต่อสู้ประกบตัวอยู่ใกล้ ให้หาจังหวะเคลื่อนที่หนีจากตัวประกบไปสู่พื้นที่ว่างแล้วเรียกขอบอลจากเพื่อน ถ้าเราหนีออกมาแต่คู่ต่อสู้รู้แล้วเคลื่อนตัวตามมาก็ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นการย้ายเปลี่ยนที่จุดที่เรายืนใหม่ แต่เราได้เปิดพื้นที่ตรงจุดที่เรายืนอยู่เดิมให้เป็นพื้นที่ว่าง เพื่อให้เพื่อนร่วมทีมคนอื่นเคลื่อนที่มาเพื่อรับบอลแทน แล้วเราต้องเคลื่อนที่หาช่องทางสนันสนุนการเล่นของเพื่อนที่ครอบครองบอลตามสถานะการณ์นั้นต่อไป ดังนั้นต้องเตือนตัวเองเสมอว่า "เมื่อไม่มีบอล ทำตัวเองให้ว่าง ทำทางให้พื่อน เคลื่อนตัวสนันสนุน"
                           ลองนำไปใช้กันนะครับ จะลดความผิดพลาดในการเล่นลงได้และสามารถร่วมเล่นกับเพื่อนร่วมทีมได้อย่างดีมีความสุขและสนุกเมื่อทีมได้รับชัยชนะ......


วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559


นี่แหละ...คือฟุตบอล..!!!

ภาพจาก buxpub.com

                        ท่านคงสงสัยว่ามันคืออะไรกับ คำที่ว่า..นี่แหละ..คือฟุตบอล..เกมฟุตบอลเป็นเกมหนึ่งที่ยากต่อการคาดเดา ไม่สามารถมั่นใจได้ 100% ว่าเกมการแข่งขันวันนี้ใครจะเป็นฝ่ายเก็บชัยชนะกลับบ้านไปได้ ทั้งๆที่ทีมที่มีความพร้อมทั้งตัวผู้เล่นและมีการเตรีมทีมที่ดีกว่า แต่ผลการแข่งขันออกมาไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดก็มีคือพลาดโอกาสพ่ายแพ้ให้แก่ทีมรองบ่อนไป หรือทีมหนึ่งสามารถทำประตูนำอยู่และเหลือเวลาอีกไม่มากนักแต่ช่วงท้ายเกมมาพลาดท่าเสียประตูทำให้แพ้ไปก็มี ซึ่งความไม่แน่นอนที่ต้องลุ้นกันสุดๆจนหมดเวลาแข่งขัน..มันเป็นเสน่ห์ของเกมแข่งขันฟุตบอลที่แท้จริง
                           อย่างเกมการแข่งขันคู่ชิงชนะเลิศถ้วย FA cup.ของประเทศอังกฤษปีนี้ ทีมคลิสตัล พาเลซ ได้ประตูขึ้นนำไปก่อนและมีผู้เล่นมากกว่าเพราะทีมแมนยูฯ มีผู้เล่นที่ได้รับใบแดงไป 1 คนแต่พยายามเล่นจนทำประตูไล่ตามมาและทำประตูชัยได้ตอนท้ายเกม ทำให้เมื่อจบการแข่งขันทีมแมนยูฯ พลิกกลับมาคว้าตำแหน่งแชมป์ไปครอได้งชนิดที่ทั้งสตาฟโค้ชและกองเชียร์หายใจไม่ทั่วท้องทีเดียว

                                              ภาพจาก goal2sport.com
                              เกมในโตโยต้าไทยลีกก็เช่นกัน ในเกมการแข่งขันคู่ระหว่าง ทีมบีบีซียู กับทีมเมืองทองฯ ทั้งๆที่ทีมบีบีซียู เป็นรออยู่งมากเพราะมีผลงานอยู่ท้ายตารางและเปลี่ยนโค้ชใหม่คือโค้ชจุ่น ดร.จตุพร  ประมลบาล พอรับงานก็เจอกับงานสุดหินเลย แต่ต้องชื่นชมว่าได้ทำการบ้านมาดีวางแผนกลยุทธ์ตั้งรับแน่นแล้วโต้รุกสวนกลับเร็ว สามารถกดดันทีมเมืองทองฯได้ดีทีเดียว สามารถทำประตูขึ้นนำได้ก่อนในต้นครึ่งเวลาหลัง และพยายามต้านเกมรุกที่ทีมเมืองทองฯจัดเข้ามาเต็มๆทุกรูปแบบ จนมาท้ายๆเกม ผู้เล่นของทีมบีบีซียู น่าจะหมดแรงและสมาธิหลุดไปทำให้พลาดเสียประตูถึง 2 ประตู เป็นผลทำให้ทีมเมืองทองฯพลิกกลับมาคว้าชัยชนะไปแบบหืดขึ้นคอแต่ก็เป็นเกมคุณภาพเกมหนึ่งเช่นกัน และอีกคู่หนึ่งระหว่าง ทีมสุพรรณบุรี เอฟซี กับทีมบางกอกกล๊าส เอฟซี ก็เช่นกันทีมสุพรรณฯเล่นในบ้าน ทำประตูขึ้นนำก่อนแต่สุดท้าย ทีมบางกอกกล๊าส กลับมาเอาชนะไปได้ 2:1 ประตู
                             อันที่จริงผลของการแข่งขันที่ออกมา เป็นเรื่องของเกมฟุตบอลที่คาดเดาได้ยากจึงเป็นเหตุที่ทำให้คนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง แต่องค์ประกอบที่แท้จริงที่ทำให้เกิดผลแพ้-ชนะกันนั้นจะมีพื้นฐานดังต่อไปนี้
                      1. วางแผนดี โค้ชต้องศึกษาการเล่นของทีมคู่ต่อสู้แล้วมาเตรียมทีมของตนให้พร้อมที่สุดว่าจะเล่นกับทีมคู่ต่อสู้อย่างไรจึงจะได้เปรียบ
                   2. นักฟุตบอลดี  ผู้เล่นมีวินัย มีความมุ่งมั่นกระหายที่จะเอาชัยชนะ พยายามฝึกซ้อมอย่างดี และเล่นอย่างที่โค้ชกำหนด
                      3. การสนับสนุนดี  ฝ่ายบริหารและผู้จัดการทีม อำนวยความสะดวก สนับสนุนการทำงานของโค้ช สร้างขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้นในทีม
                      4. กำลังใจจากแฟนคลับ  กองเชียร์ก็เป็นพลังแฝงที่ ทั้งกดดันฝ่ายคู่ต่อสู้ให้เสียสมาธิและกระตุ้นนักกีฬาของตนให้ทุ่มเทในการเล่นเพื่อการทำผลงานให้ดีที่สุด
                    5. โชคดี  สิ่งนี้จะเป็นองค์ประกอบสุดท้าย    หลังจากที่ได้กระทำ 4 ข้อแรกมาแล้ว เพราะบางครั้งถ้าไม่ได้พกดวงมา หรือเทพีแห่งโชคไม่เข้าข้างด้วยแล้ว ผลการแข่งขันอาจจะออกมาไม่ดีได้เช่นกัน
                       อย่างไรก็ตามต้องพึงระลึกเสมอว่า   ทีมคู่ต่อสู้ก็ต้องรู้ และเข้าใจหลักการเช่นเดียวกัน ดังนั้นโค้ชต้องรอบคอบ จัดการเตรียมทีมให้พร้อมที่สุดเพิ่อบทสรุปของเกมคือ..ชัยชนะ..สู้สู้ทุกคนนะครับ

                         
                   

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559



จุดประสงค์ของการพัฒนาเด็กในศูนย์ฝึก


ภาพจาก suphan junior academy

                         วงการฟุตบอลไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคการพัฒนาทักษะและเทคนิคการเล่นฟุตบอลที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากในหลายๆสถานที่ จัดสร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียม และทุกๆสนามจะมีศูนย์ฝึกอยู่ในนั้นด้วยจะจัดการฝึกสอนทักษะในการเล่นฟุตบอลให้เด็ก ซึ่งจะมีทั้งการสอนให้ฟรีและการสอนให้แบบต้องเสียค่าเรียนก็มีเพราะการบริหารจัดการเป็นของภาคเอกชนคงต้องทำในเชิงธุรกิจ เนื่องจากการดำเนินงานต้องมีค่าใช้จ่ายหลายอย่างเช่นค่าเช่าสนาม ค่าตอบแทนโค้ช ค่าอุปกรณ์ฝึกเป็นต้น
                         อย่างไรก็ตามทุกศูนย์ฝึกจะมีการบริหารจัดการฝึกที่แตกต่างกันไปตามสภาพและความเหมาะสม แต่ที่มีเหมือนๆกันก็คือต้องการพัฒนาทักษะความสามารถเชิงฟุตบอลของเด็กและเยาวชนให้สูงขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วแต่ละศูนย์ฝึกจะรับสมาชิกที่เป็นเด็กอายุอยู่ระหว่าง 6-14 ปี เข้ามาฝึกซ้อม ซึ่งจะพบปัญหาในเด็กกลุ่มอายุเดียวกันแต่มีขีดความสามรถไม่เท่ากัน หรือเมื่อฝึกไประยะหนึ่งจะมีเด็กใหม่สมัครเข้ามาฝึกอีกซึ่งการเรียนรู้ก็ไม่ทันกัน ปัญหานี้ไม่เป็นอุปสรรค์ถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ดี เช่นจัดการแบ่งเด็กตามความสามารถเป็นกลุ่มเก่งกลุ่มอ่อน หรือจัดเป็นคร์อสโดยจักการฝึกคร์อสละ 40 ชั่วไมงเป็นต้น
                          จุดประสงค์ของการฝึกจะไม่ค่อยแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะจัดการโดยเน้นการพัฒนาการเป็นอันดับแรก แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงจะจัดเป็นหลักสูตรในการฝึกทักษะฟุตบอลเน้นพัฒนาดังนี้
                           1.หลักสูตรเพื่อการแก้ปัญหาของเด็ก  โดยเด็กที่มีปัญหาบางอย่างเช่นเป็นเด็กอ้วน ติดเกมส์  สุขภาพไม่แข็งแรงเป็นภูมิแพ้เป็นต้น หลักสูตรนี้จะเน้นกิจกรรมที่ทำให้เด็กเข้าร่วมแล้วมีความสนุกสนานมากที่สุด ซึ่งยังไม่เน้นการพัฒนาทักษะต่างๆ

ภาพจาก สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี

                          2.หลักสูตรพัฒนาทักษะ โดยเด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เริ่มเล่นเด็กแต่มีความปรารถนาอยากจะเล่นฟุตบอลให้เก่ง หลักสูตรนี้จะเน้นปูพื้นฐานทักษะทุกอย่างทั้งการ ครอบครองบอล การจับ รับ ส่งทั้งกับพื้นและในอากาศ การโหม่ง การเลี้ยงและยิงประตูที่ถูกต้องตามลำดับขั้น การเล่น 1:1และเล่นกับเพื่อนร่วมทีมกลุ่มย่อยเช่น 3:1, 4:2, 2:1, 3:3, 4:4, 5:5, 7:7 รวมทั้งกติกาเบื้องต้นและสร้างเสริมความมีวินัย ความมีน้ำใจนักกีฬาเป็นต้น

ภาพจาก สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี

                         3.หลักสูตรพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ เด็กกลุ่มนี้จะถูกพัฒนามาจากหลักสูตรที่ 2 เด็กที่มีทักษะพื้นฐานที่ดีมาแล้วจะมีความพร้อมในการก้าวไปสู่เส้นทางของนักกีฬาที่เป็นตัวแทนของสถานศึกษาต่อไป หลักสูตรจะเน้นพัฒนาต่อยอดจากทักษะพื้นฐาน ไปสู่การฝึกให้มีเทคนิคและเทคติกการเล่นที่สูงขึ้น เข้าใจยุทธวิธีการเล่นเพิ่มขึ้นสามารถเล่นเป็นทีมได้ถูกต้องและดียิ่งขึ้น โดยเน้นการฝึกเฉพาะตำแหน่งที่แต่ละคนมีความเหมาะสม เรียนรู้วิธีการเล่นเกมรุก-เกมรับเป็นต้น ดังนั้นถ้าเด็กคนใดมีความสามารถที่โดดเด่นจะได้รับการติดต่อจากแมวมองจากโรงเรียนต่างๆ หรือไปทดสอบคัดเลือกเพื่อเป็นเด็กความสามารถพิเศษตามโรงเรียนที่เปิดการคัดเลือกซึ่งจะมีโอกาสในการเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงต่างๆ และปัจจุบันอาจจะมีการคัดเลือกเข้าเป็นเด็กในโครงการศูนย์ฝึกของสโมสรฟุตบอลต่างๆเช่นกัน
                     ผู้ปกครองควรพิจารณาตามความเหมาะสมของเด็กและความต้องการของท่านที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาร่วมฝึกที่ศูนย์ฝึกต่างๆเพื่อความพึงพอใจและความก้าวหน้าของเด็กๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นผลดีแน่นอนคือเด็กๆจะได้ใช้เวลาว่างให้ถูกต้อง พัฒนาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีระเบียบวินัยดีขึ้น มีความรับผิดชอบ มีความสามัคคี เสียสละ สามารถทำงานเป็นทีมได้ไม่เห็นแก่ตัวและเป็นคนดีของสังคม ซึ่งแก่นแท้ของกีฬาคือส่งผลให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพเป็นคนดีที่สังคมต้องการ.









วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559



การเปลี่ยนโค้ชในช่วงฤดูกาลแข่งขัน

ภาพจาก Face book Tumdevil Photogreaphy Swatcat FC Online

                   การเปลี่ยนแปลงโค้ช ในขณะนี้เป็นกระแสในสังคมฟุตบอลอาชีพของไทยอย่างเช่นโค้ชซูกาโอ๊ะ คัมเบะ ชาวญี่ปุ่นของสโมสรนครารชสีมาเอฟซี ที่ถูกกดดันทำให้ต้องขอลาออกไปแม้ว่าผลงานปีนี้จะไม่ค่อยดีนักแต่แฟนคลับก็ยังไว้วางใจอยู่ ซึ่งการเปลี่ยนโค้ชเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับทีมกีฬา ในสังคมกีฬาการเปลี่ยนผู้ฝึกสอนหรือตัวโค้ชถือว่าเป็นเรื่องปกติ ยิ่งในวงการฟุตบอลอาชีพในต่างประเทศด้วยแล้วจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงกันบ่อยมากจนแทบจะจำไม่ได้เลยว่าโค้ชคนนี้ทำงานอยู่ที่สโมสรไหนกันแน่เพราะบางคนในหนึ่งฤดูกาล เริ่มต้นที่สโมสรหนึ่ง กลางฤดูกาลเปลี่ยนไปที่หนึ่งและปลายฤดูกาลไปจบอยู่อีกสโมสรหนึ่งก็มี อย่างนี้จะเห็นว่าโค้ชไม่ได้ตกงานเพราะมีความสามารถเพียงแต่อาจไม่ถูกโฉลกกับบางทีมหรืออาจจะจูนระบบการทำงานไม่ลงตัวกัน
                   การเปลี่ยนโค้ชมักจะเกิดจาก    ผลงานที่ทำอยู่ไม่เป็นไปตามเป็าหมายหรือข้อตกลงในสัญญา ในกรณีเช่นนี้โค้ชที่เป็นมืออาชีพมีจรรยาบรรณหรือที่เราชอบพูดกันว่ามีสปิริตนั้น เขาจะแสดงจุดยืนในความรับผิดชอบทันที่โดยการขอลาออก ทั้งๆที่บอร์ดบริหารยังให้โอกาสทำงานต่อไปก็ตาม
                  ในกรณีที่มีเหตุการณ์คล้ายๆกันคือทำผลงานไม่ดี   แต่ก็พยายามฝืนทำต่อ อย่างนี้บอร์ดบริหารคงต้องทำหน้าที่ประเมินกระบวนการในการทำงานอย่างรอบคอบก่อน แล้วเห็นว่าถ้าให้อยู่ต่อจะเกิดผลเสียมากกว่า คงต้องยื่นคำขาดขอเชิญให้อออกไป
                  แต่ที่สำคัญที่สุด ถ้าโค้ชทำผลงานไม่ดี และการทำงานไม่เข้าตาแฟนบอลของสโมสร พวกเขาก็จะแสดงปฏิกริยาออกมาให้เห็นทันทีว่าไม่พอใจการทำงานของโค้ช พูดกับง่ายๆว่ารวมพลังแสดงความรู้สึกและความต้องการให้สโมสรและโค้ชได้รับรู้ว่าควรเปลี่ยนโค้ชได้แล้ว ซึ่งความกดดันนี้จะส่งผลให้สโมสรต้องยอมทำตามแม้ว่าจะยังเชื่อมันในตัวโค้ชอยู่ก็ตาม
                 ผลในการเปลี่ยนแปลงโค้ชในระหว่างฤดูกาลแข่งขันจะดีหรือไม่ดีอย่างไรนั้น เราควรเปิดใจให้กว้าง ไม่ใช่คิดแบบเอาแต่ใจตัวเองเป็นหลัก เพราะการปรับเปลี่ยนจำเป็นต้องมีเหตมีผล แต่ต้องอยู่ภายใต้องค์ประกอบต่างๆด้วยเช่น ในช่วงนั้นมีการฝึกซ้อมและปรับยุทธวิธีการเล่นได้ดีแล้วแต่มีผู้เล่นที่สำคัญบาดเจ็บอยู่ จึงทำให้ผลการแข่งขันยังไม่เป็นไปตามที่หวังและยังมีเวลาพอที่จะรอให้ผู้เล่นที่บาดเจ็บหายกลับมาช่วยทีมได้ทันทีมก็จะกลับมาอีกครั้ง มิใช่ดูเพียงผลการแข่งขันอย่าเดียว เพราะอาจจะไม่เป็นผลดีต่อสโมสรในระยะยาว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงมีทั้งผลดีและผลที่ไม่ดีดังนี้
                ในด้านผลดี  ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าโค้ชมีกระบวบการทำงาน ที่ส่อไปในทางมองไม่ค่อยเห็นอนาคต ขืนปล่อยไว้จะยิ่งทำให้ทีมเล่นแย่ลงหรือสะกดคำว่าชนะไม่ได้เลย อย่างนี้คงต้องปรับเปลี่ยนโดยเร็ว เพื่อปรับเปลี่่ยนกลยุทธการเล่นให้เหมาะกับทีมยิ่งขึ้น ดังเช่นสโมสรฟุตบอล Leicester City ที่บอร์ดบริหารต้องตัดสินใจเปลี่ยนโค้ชทั้งๆที่คนเดิมได้ทำให้ทีมเป็นแชมป์จากดิวิชั่น 1 เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในพรีเมี่ยร์ลีคได้ แต่มาฤดูกาลนี้ต้องถูกปรับเปลี่ยนออกไป ทีมได้รับการปรับจูนได้อย่างลงตัวทำให้ผู้เล่นในทีมทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมสามารถคว้าแชมป์ในฤดูกาลนี้ได้อย่างสมเกียรติและเป็นประวัติศาสตร์ของสโมสรอีกด้วย
                ในด้านที่ไม่ดี ถ้าโค้ชได้ทำหน้าที่และมีกระบวบการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ ปรับยุทธวิธีการเล่นที่เหมาะสมกับทีมแล้ว แต่ผลงานยังออกมาไม่ชัดเจน เพราะผู้เล่นกำลังปรับจูนเข้าหากัน หรือผู้เล่นยังเป็นกลุ่มดาวรุ่งที่ต้องสร้างเสริมประสบการณ์ให้มากขึ้น เพื่อรอโอกาสที่จะฉายแสงออกมาเป็นดาวเด่นขึ้นมา แต่ทั้งบอร์ดบริหาร และแฟนคลับของสโมสรจะต้องอดทน ทำใจรอเวลาแห่งความสำเร็จที่จะมาถึง แต่จะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้จากการบริหารของสโมสรชั้นนำในระดับโลก ซึ่งเขาจะมีนโยบายสรรหาโค้ชมือดีมาทำหน้าที่และให้โค้ชได้วางแผนพัฒนาทีม ทั้งทีมหลักและทีมสำรอง รวมถึงการบริหหารศูนย์ฝึกในระยะยาว (ประมาณ 4 ปี)เช่น สโมสรฟุตบอล Manchester United ในยุคหนึ่งที่ได้โค้ชชื่อ อาเล็คซ์ เฟอร์กุสัน เข้ามาทำหน้าที่ในช่วง 2-3 ปีแรกทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนักได้รับกระแสกดดันจากแฟนคลับให้ถูกปรับเปลี่ยน แต่บอร์ดบริหารเข้าใจแนวทางการทำงานจึงไว้วางใจให้ทำต่อ ผลที่เกิดขึ้นเป็นดั่งที่คาดหวังโดยสร้างผลงานที่ประสบความสำเร็จได้อย่างมากมาย และยาวนานมากกว่าโค้ชคนอื่นๆในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเปลี่ยนโค้ชบ่อยๆจะทำให้กระบวนพัฒนาทำได้ไม่ต่อเนื่องและอาจจะทำให้พลาดโอกาสแห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นี้ไป
                   ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องทั้งบอร์ดบริหารและแฟนคลับของสโมสร ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าควรเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรจึงจะเกิดผลดีต่อสโมสรที่เรารักและผูกพันธ์ต่อไปในอนาคต ขอเป็นกำลังใจให้โค้ชทุกๆคน จงตั้งใจพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อพัฒนางานให้ก้าวสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต..สู้สู้น้า.. 
             

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559



การฝึกฟุตบอลสำหรับเด็กศูนย์ฝึก


ภาพจาก www.knowhowsoccer.com

                      ปัจจุบันจะเห็นสนามฟุตบอลหญ้าเทียม ผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด เนื่องจากกำลังเป็นที่นิยม ถึงแม้ว่าสนามจะมีขนาดเล็กแต่มีพื้นสนามเรียบสามารถเล่นได้ในทุกฤดูกาล ซึ่งเหมาะที่ใช้ในการฝึกสอนทักษะฟุตบอลให้กับเด็กๆ   จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชนไทยรุ่นใหม่จะได้รับการสอนทักษที่ต้องและพัฒนาทักษะนั้นให้ดีได้ง่ายเพิ่มขึ้น
                   FIFA ได้แบ่งเด็กและเยาวชนตามลักษณะการพัฒนาการไว้เป็นช่วงๆ ดังนี้ คือ U-6, U-8, U-10, U-12, U-14, U-16, U-18 ซึ่งมีระยะเวลาช่วงละ 2 ปี เพราะจิตวิทยาการพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงอายุจะมีความสามารถไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการพัฒนาทักษะฟุตบอลจึงควรจะพัฒนาตามขีดควมสามารถในแต่ละวัย ผู้ฝึกสอนจึงไม่ควรเร่งฝึกทักษะที่ซับซ้อนและยากเกินกว่าที่เด็กในวัยนั้นๆสามารถทำได้ เพราะเด็กจะสับสนและขาดความเชื่อมั่นในตนเองไปเพราะเด็กอาจจะทำทักษะนั้นได้ไม่ดีอย่างที่ผู้ฝึกสอนต้องการ และเมื่อเด็กทำไม่ได้หรือทำผิดบ่อยๆก็จะถูกผู้ฝึกสอนต่อว่าเด็กนั้นจะไม่กล้าทำและไม่มั่นใจ
                      ข้อคิดสำหรับผู้ฝึกสอน คือต้องพิจารณาจัดกิจกรรมการฝึกแต่ละทักษะให้เหมาะสมกับแต่ละวัย แนวคิดในการจัดกิจกรรมการฝึกอย่างคราวๆ โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 4 กลุ่ม ดังนี้
                      1. เด็กกลุ่ม U-6, U-8 ซึ่งเป็นเด็กเล็กซึ่งเป็นวัยที่อยากทำกิจกรรมต่างๆอย่างที่เขาต้องการเพื่อความสนุกสนาน การฝึกควรใช้ทักษะพื้นฐานที่สามารถทำได้ง่าย เช่น ฝึกการบังคับบอลให้อยู่ในความครอบครอง แล้วพาบอลไปในทิศทางที่กำหนด การเตะบอลไปข้างหน้า การเล่นเกมกับบอลแบบอิสระโดยมีกฏกติกาง่ายๆ ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามทักษะ และควรปูพื้นทักษะเบื้องต้นที่ถูกต้องให้เด็กได้บ้างบางอย่างเช่นการ รับ-ส่ง และเลี้ยงบังคับบอลให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่กำหนด แต่เน้นที่ให้กระทำหลายๆครั้ง เพราะเด็กจะได้พัฒนากล้ามเนื้อขา ทักษะทางกลไกการเคลื่อนไหวและความสัมพันธ์ของประสาทกับกล้ามเนื้อให้เพิ่มมากขึ้น และทักษะจะพัฒนาให้ดีขึ้นด้วย

ภาพจาก sport.bluesombrero.com

                      2. เด็กกลุ่ม U-10, U-12 กลุ่มนี้จะพัฒนาต่อเนื่องมาจากกลุ่มแรก ดังนั้นกิจกรรมที่ควรฝึกคือ ฝึกทักษะการรับ-ส่ง เดาะบอล โหม่ง เลี้ยง ยิงประตู ทั้งบนพื้นสนามและในอากาศที่ถูกต้อง และเน้นความแม่นยำ รวมถึงการเรียนรู้เกมการเล่นทั้ง รุก-รับ การเคลื่อนที่สนับสนุนเพื่อนร่วมทีม ด้วยการฝึกกลุ่มย่อยในสนามเล็ก (small sided games) แบบ 3:1, 4:2, 3:2, 5:3, 2:1, 1:1, 4:3, 3:3, 4:4, เป็นต้น และที่สำคัญด้านสมรรถภาพทางกายเน้นฝึก ปฏิกริยาตอบสนอง ความเร็วต้น ความคล่องแค่ลวว่องไว และความอ่อนตัว

ภาพจาก soccermommanual.com

                      3. เด็กกลุ่ม U-14, U-16 เป็นกลุ่มที่ต้องพัฒนาความเข้าใจเกมการเล่นให้สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานเกมการเล่น 11 คนต่อไป ดังนั้นควรฝึกกิจกรรม ทักษะการ รับ-ส่ง โหม่ง เลี้ยง ยิงประตูที่มีกิจกรรมการฝึกที่ท้าทายและมีรูปแบบที่ซับซ้อนเพิ่งขึ้น ด้านความเข้าใจเกม รุก-รับ นั้นสามารถฝึกแนวเดียวกับกลุ่มที่ผ่านมา ควรฝึกกลุ่มย่อยโดยเพิ่มการเคลื่อนที่สนับสนุนและช่วยเหลือสอดซ้อนแบบหมุนเวียนทดแทนตำแหน่งซึ่งกันและกัน และเพิ่มกิจกรรมการฝึก แบบ 5:5, 7:7, 9:9,และฝึกเล่นทีม 11:11 โดยเน้นยุทธวิธีการเล่นต่างๆเพิ่มขึ้นเช่น เกมรุก ฝึกการโจมตีจากด้านข้างสนาม การเจาะแนวรับตรงกลาง การโต้รุกสวนกลับอย่างรวดเร็ว การเตะจากมุม การเตะลูกกินเปล่า 2 จังหวะ และจังหวะเดียว ส่วนเกมรับ ฝึกการป้องกันแบบคุมพื้นที่ การป้องกันแบบประกบตัวต่อตัว การป้องกันแบบผสมทั้งคุมคนและคุมพื้นที่ การป้องกันลูกเตะจากมุม การตั้งกำแพงป้องกันการเตะลูกกินเปล่าต่างๆ ส่วนการสร้างสมรรถภาพทางกาย ช่วงนี้สามารถเสริมด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความอดทน และเน้นความเร็วและอดทนอีกด้วย  

ภาพจาก education-city.ru

                    4.กลุ่มเด็ก U-18 จะมีการฝึกเช่นเดียวกันกับกลุ่มที่ผ่านมาแต่เน้นความเข้มข้นมากกว่าและมีรูปแบบการฝึกที่ซับซ้อนมากขึ้น ปรับเทคนิคการเล่นเฉพาะบุคคลและแทคติกการเล่นเฉพาะตำแหน่งให้เหมาะสมชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคนิค แทคติก ยุทธวิธีและระบบการเล่นทั้งกลุ่มย่อยและทีมให้มีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้นรวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกติกาการแข่งขันเพื่อประโยชน์ในการเล่นได้อย่างถูกต้องและมีนำ้ใจนักกีฬาอีกด้วย
                      จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้ฝึกสอนไม่ควรทำ คือการนำแบบการฝึกที่ใช้ฝึกกับกลุ่มเด็กโตหรือแบบฝึกที่มีความซับซ้อนมาใช้ฝึกกับกลุ่มเด็กเล็กซึ่งอาจจะทำได้ไม่ดีหรือเป็นกิจกรรมที่ยาก ทำให้ไม่สามารถทำได้ดี การพัฒนาจะเกิดได้แต่ต้องใช้เวลามากกว่าปกติและเด็กอาจจะนำทักษะและเทคนิคการเล่นไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ภาพโดยรวมจึงดูเหมือนว่าเด็กนั้นเล่นได้ไม่ดีทั้งๆที่ได้รับการฝึกมามากแล้วก็ตาม