วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561



ทำไมจึงต้องฝึกเกมสนามเล็ก (Small-sided Games)

ภาพจาก www.smile football club.com

                             บางคนยังเข้าใจผิดคิดว่าการฝึกหรือเล่นในสนามเล็ก จะพัฒนาเด็กและเยาวชนได้น้อยกว่าการเล่นทีม 11 คน
                               อันที่จริง การฝึกซ้อมทั้งสองแบบ สามารถพัฒนาทักษะความสามารถของเด็กและเยาวชนได้เหมือนกัน เพียงแต่การฝึกแบบทีม 11 คนพัฒนาในบางทักษะให้เกิดขึ้นได้น้อยและช้ากว่าการฝึกซ้อมด้วยกิจกรรมเกมในสนามเล็ก
                            ทำไมการฝึกซ้อมในสนามเล็กจึงมีความสำคัญ... เหตุผลที่สนับสนุนมีดังนี้                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                            
                              1. เป็นกิจกรรมการฝึกที่เหมาะสมกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน
                              2. เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ เทคนิคการเล่นต่างๆตั้งแต่ขั้นพื้นฐานขึ้นไป
                              3. เด็กจะได้รับการฝึกกิจกรรม โดยเด็กทุกคนจะมีโอกาสทำกิจกรรมที่ต้องการพัฒนาตลอดเวลา และทำซ้ำๆบ่อยๆ จนเกิดเป็นความชำนาญ
                              4. แก้ปัญหาให้โค้ชบางคน ที่คิดว่ามีพื้นที่สนามในการฝึกซ้อมขนาดเล็ก ไม่ได้ตามขนาดมาตรฐาน แต่สามารถดำเนินการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาเด็กได้เช่นกัน
                              5. โค้ชสามมารถกำหนดกิจกรรมตามที่ต้องการ เช่น..กิจกรรมพัฒนาความสามารถเฉพาะตัว หรือกิจกรรมพัฒนาเทคนิคการเล่นในสถานะการณ์ต่างๆ และกำหนดความหนักของงานได้ตามความเหมาะสมของแผนพัฒนาฯ เช่น..กิจกรรมจะพัฒนาสมรรถภาพทางกายถึงระดับ แอโรบิกและสามารถพัฒนาความเข้มข้นขึ้นไปถึงระดับ แอโรบิกผสมกับความอดทน (Aerobic Endurance)
                              6. เกมสนามเล็กจะเป็นสถานะการณ์เกมบางส่วน ในการเล่นทีม 11 คน เพราะในเกมสนามใหญ่ ผู้เล่นทั้ง 11 คนจะไม่ได้เล่นในสถานะการณ์เกมเดียวกันพร้อมกันทุกคน แต่จะมีผู้เล่นที่เกี่ยวข้องกันจริงจริงในสถานะการณ์นั้นๆเพียง 1-4 คนเท่านั้น ซึ่งถ้าแบ่งพื้นที่สนามใหญ่ออกเป็นส่วนๆ จะเห็นได้ว่า มีพื้นที่บางส่วนเท่านั้นที่มีสถานะกาณ์เกมการเล่นเกิดขึ้น และมีผู้เล่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งเท่านั้น สมมุติว่าถ้ายกพื้นที่ดังกล่าวนั้นออกมา จะเห็นได้ว่าเกมการเล่นในพื้นที่ตรงนั้น  จะมีลักษณะเหมือนกับการฝึกกิจกรรมเกมสนามเล็กนั่นเอง...
                              โค้ชที่ดีจะต้องสามารถมองภาพดังกล่าวได้ และสามารถคิดแผนการพัฒนา จัดทำแบบฝึก และรูปแบบกิจกรรมการฝึกเพื่อนำมาใช้ฝึกซ้อมเพื่อให้ผู้เล่นเกิดการพัฒนาการ และเพิ่มในส่วนที่ขาดตามแผนพัฒนาที่กำหนดได้...ถ้าเด็กได้ทำการฝึกในทุกๆสถานะการณ์ และมีความเข้าใจการเล่นดีแล้ว เมื่อลงเล่นเป็นทีม 11 คน ก็จะทำให้เกมมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นด้วย......

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561



ทำไมทีมฟุตบอลเด็กไทยเก่ง..แต่โตขึ้นมาผลงานไม่ดี.!!

ภาพจาก www.thaibevthaitalent.com

                                  น่าแปลกใจที่พวกเรารู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานฟุตบอลชุดเด็กๆของไทย ที่ได้แชมป์และชนะทีมต่างๆได้ เมื่อเวลาผ่านไปเด็กเหล่านี้เติบโตและพัฒนาด้านฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง แต่กลับสร้างผลงานไม่ได้ตามเป้าหมาย มีศักยภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น คือควรจะเป็นทีมที่อยู่ในระดับแนวหน้าของเอเซีย....เมื่อผลงานออกมาไม่ดีก็จะมีข้อแก้ตัวต่างๆมาอ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างที่เล็กกว่าทีมอื่นๆ มีเวลาในการเตรียมทีมน้อย หรือสโมสรไม่ยอมปล่อยตัวนักกีฬามาร่วมทีม..เป็นต้น
                                  สาเหตุดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นเรื่องปลายเหตุ ความน่าจะเป็นของสาเหตุที่ทำให้เกิดความบกพร่องมีดังต่อไปนี้
                                  1. ทัศนคติและความคิดของผู้เกี่ยวข้องยังไม่เหมาะสมกับการพัฒนาการตามวัยของเด็ก
                                    2. แผนการพัฒนาไม่ถูกต้อง
                                    3. วิธีการฝึกซ้อมไม่เหมาะสม
                                    4. การสร้างขวัญและการให้กำลังใจมากเกินจริง
                                   1. ทัศนคติและแนวคิดไม่เหมาะกับการพัฒนาตามวัยของเด็ก...โดยธรรมชาติการพัฒนาการของเด็กด้านต่างๆจะเป็นไปตามระดับของช่วงอายุ  อย่างเช่นเด็กทารกจะไม่สามารถลุกขึ้นแล้ววิ่งได้ โดยธรรมชาติเด็กจะพัฒนาไปทีละขั้นจะเริ่มจากการคว่ำ คืบ คลาน ลุกขึ้นยืน เดิน แล้วจึงเริ่มวิ่งได้ ในทำนองเดียวกันเด็กแต่ละวัยจะมีขีดความสามารถที่แตกต่างกัน การรับรู้และการพัฒนาขีดความสามารถจะทำได้ตามวุฒิภาวะนั้นๆ หากใจร้อนฝืนกฏธรรมชาติแล้วพยายามพัฒนาแบบก้าวกระโดด เด็กก็จะมีสมรรถนะดีในระดับหนึ่งแต่จะมีจุดบกพร่องอีกหลายๆอย่าง ซึ่งในระยะยาวการพัฒนาการของเด็กเหล่านั้นในอนาคต จะมีขีดจำกัดและขาดความสมบูรณ์แบบ
                                2. แผนการพัฒนาไม่ถูกต้อง...เมื่อมีแนวคิดตามแบบข้อที่ 1 การวางแผนการฝึกกีฬาฟุตบอลให้เด็กก็จะเป็นแบบก้าวกระโดดเช่นกัน แผนพัฒนาจะไปเน้นที่การเล่นทีมและผลการแข่งขันมากกว่า
                                3. วิธีการฝึกซ้อมไม่เหมาะสม... เมื่อแผนการพัฒนาวางไว้แบบก้าวกระโดดวิธีการฝึกก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือจะพัฒนาทักษะการรับ-ส่ง โหม่ง เลี้ยง ยิงประตูในระดับที่พอทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงขั้นดีมาก ขาดความแม่นยำ แน่นอนและยังไม่มีความชำนาญมากพอ จึงไม่สามารถเอาตัวรอดในสภาวะกดดันสูงได้ แต่ไปเน้นที่การเล่นทีม ซึ่งการสร้างเสริมประสบการณ์จนเกิดความชำนาญจะต้องพัฒนาได้จากเกมสนามเล็กก่อน นอกจากจะพัฒนาทักษะให้ชำนาญเพิ่มขึ้นแล้ว  ยังเรียนรู้เทคนิกการเล่นเกมรุก-เกมรับไปที่ละขั้นตอนอีกด้วย โดยการฝึกแบบ  1:1,  3:3,  5:5,  7:7, 9:9,   เป็นต้น    เพราะการฝึกในสนามเล็ก เด็กแต่ละคนจะมีโอกาสได้สัมผัสกับการได้เล่นกับบอล และสถานการณ์การเล่นต่างๆบ่อยๆครั้ง เมื่อรู้ เข้าใจ สามารถเล่นได้ดีแล้วจึงค่อยก้าวไปสู่การเล่นทีม 11 คนต่อไป สิ่งที่พบในการฝึกที่เน้นผลการแข่งขันมาตั้งแต่แรกจะทำให้เด็กมีผลการแข่งขันที่ดีก่อนประเทศอื่นๆ เพราะเด็กประเทศอื่นยังไม่ได้เน้นการฝึกที่การเล่นทีมจึงทำให้มีประสบการณ์ในการเล่นทีมน้อยกว่า แต่พวกเขามีศักยภาพด้านทักษะต่างๆที่ชำนาญแม่นยำมากกว่า เมื่อถึงช่วงที่เขาได้ฝึกเทคนิคการเล่นทีมเขาจึงทำได้ดีมีความแน่นอนมากว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการเล่นจะมีน้อยกว่า การเล่นทีมจึงไม่เกิดปัญหาเช่นเดียวกับทีมไทยที่มักจะพบในเรื่องความผิดพลาดในการเล่นบ่อยๆ แล้วจึงนำมาเป็นข้ออ้างว่าเด็กเราทักษะไม่ดีเป็นต้น..
                               4. การสร้างขวัญและให้กำลังใจมากเกินไป...เมื่อพบเห็นว่าเด็กบางคนเล่นดี มีผู้เกี่ยวข้องหลายๆคนรวมทั้งสื่อต่างๆมักจะให้กำลังใจชื่นชมและเชียร์ ยกย่องว่ามีความเก่งกาจเลอเลิศเหนือกว่าเด็กคนอื่นๆในรุ่นราวคราวเดียวกัน เช่นชื่นชนว่าเล่นได้สุดยอดเก่งเหนือเด็กอื่น หรือแบบว่าเป็นโคตรบอลบ้างหรือให้ฉายาว่าเป็นระดับเทพบ้าง..จนทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเก่งเหนือกว่าคนอื่นๆ จึงมีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป อาจจะทำให้เด็กคนนั้นหลงและทะนงตนจนลืมไปว่า ความสามารถของตนเองนั้นที่เหนือกว่าเด็กอายุรุ่นเดียวกันนั้น ซึ่งเป็นเพียงภาพลวงตาไม่ใช่ความเป็นจริง เพราะความสามารถนั้นก็ยังไม่พร้อมสมบูรณ์แบบหรือมีความชำนาญในระดับหนึ่งเท่านั้น และยังมีความเก่งน้อยกว่ากลุ่มเด็กที่มีอายุที่สูงกว่าด้วย เหมือนเก่งใหญ่จะเหนือกว่าเก่งเล็กเป็นต้น นอกจากนั้นยังจะไม่ส่งแรงบรรดาลใจให้เด็กกลุ่มนี้พัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นเพราะมีความเชื่อว่าตนเองนั้นมีความเก่งหรือเหนือกว่าคนอี่นอยู่แล้ว และที่สำคัญเด็กเหล่านี้ได้รับการฝึกมาก่อนเด็กอีกหลายๆคนในกลุ่มอายุเดียวกัน จึงทำให้พวกเขามีความสามารถเหนือกว่าแบบชั่วคราว เพราะว่าเมื่อเด็กคนอื่นๆได้รับโอกาสฝึกซ้อมอย่างที่ถูกต้อง เขาอาจจะพัฒนาขีดวามสามารถได้เท่าเทียมหรือเล่นได้เหนือกว่าอีกด้วย
                                   สิ่งเหล่านี้จะเป็นมูลเหตุที่อาจจะชะลอการพัฒนาการด้านฟุตบอลของเด็กไทย ทำให้เด็กไทยมีศักยภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่หรือทีมชาติชุดใหญ่จึงทำให้ทำผลงานได้ไม่ดีอย่างที่เห็น....ดังนั้นเด็กนักฟุตบอลต้องปรับทัศนะคติใหม่ โดยให้คิดเสมอว่าเราต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีนักฟุตบอลคนอื่นเก่งเหนือเราอยู่อีก เช่น..เก่งในรุ่นอายุ 12 ปี ต้องพัฒนาให้มีศักยภาพสู้กับรุ่นอายุ 14 ปีให้ได้ แล้วต้องพัฒนาต่อเพื่อสู้ให้ได้ในรุ่นอายุ 16, 18, 20, ทีมชาติไทยชุดต่างๆ และทีมต่างชาติอื่นๆต่อไป ถ้าเด็กไทยคิดแบบนี้จะเป็นแรงจูงใจให้เด็กๆทุกคนต้องพยายามพัฒนาศักยภาพแข่งกัน ซึ่งสถานะการณ์แบบนี้ประเทศไทยจะมีนักฟุตบอลที่มีศักยภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากยิ่งขึ้น..เป็นต้น



วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561



ทำอย่างไรกองกลางจึงมีประสิทธิภาพ..?

ภาพจาก www.blog sbo bet.com

                                     อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่ากองกลางเป็นหัวในการเดินเกมของทีมในการแข่งขัน แต่บางครั้งก็ไม่สมารถทำได้อย่างที่ต้องการ ทั้งๆที่ฝึกผู้เล่นกองกลางให้สามารถเล่นตามเทคนิคการเล่นของกองกลางมาแล้วก็ตาม
                                       โดยปกติผู้เล่นกองกลางจะต้องครอบครองบอลไว้ให้อยู่ในทีม เปลี่ยนแกนการเล่นเพื่อแก้ไขสถานะการณ์ที่เสียเปรียบ หรือเพื่อสร้างโอกาสความได้เปรียบ และพยายามส่งบอลกดดันกองหลัง โดยทะลุผ่านช่องว่างแนวรับให้กองหน้าพร้อมสนับสนุนในการบุกทะลวงเข้าไปยิงประตู
                                     ปัญหา..คือ..การส่งบอลให้ผู้เล่นกองหน้าแบบไม่ได้เปรียบ ทำให้สร้างความกดดันกองหลังคู่ต่อสู้ไม่ได้เลย
                                     จุดสำคัญที่อาจจะถูกมองข้ามไป...โค้ชที่ดีจะต้องมีความละเอียดในการพิจารณาความสามารถของผู้เล่นกองกลางแต่ละคน..ว่าคนใดมีความสามารถเด่นที่ตรงไหน เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละคนจะมีสามารถดีไม่เท่ากัน..ดังนั้นโค้ชต้องเลือกที่จะมอบหมายบทบาทหน้าที่ในการเล่นให้ผู้เล่นกองกลางแต่ละคนอย่างเหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพในการเล่นที่ดีของกองกลาง
                                    องค์ประกอบที่ต้องใส่ใจ..มีดังนี้
                                   1. กองกลางตัวรับ
                                   2. กองกลางตัวไล่และพักบอล
                                   3. กองกลางตัวรุก 
                               1. ผู้เล่นกองกลางตัวรับ จะมีลักษณะการเล่นคล้ายกับตำแหน่ง Stopper ของกองหลัง แต่จะทำหน้าที่อยู่ด้านหน้าแแนวกองหลัง ซึ่งจะต้องมีความแข็งแกร่งดุดันช่วยเบรกหรือตัดเกมรุกของคู่ต่อสู้
                               2. ผู้เล่นกองกลางตัวไล่และพักบอล จะมีลักษณะเร็วแข็งแรงอดทน รับหน้าที่วิ่งไล่ล่า กดดันบีบพื้นที่เพื่อทำลายเกมและแย่งบอลจากกองกลางของคู่ต่อสู้ รวมถึงต้องสนับสนุนการเล่นโดยการช่วยพักบอลให้ผู้เล่นกองกลางตัวรุกให้มีโอกาสทำเกมรุกได้ง่ายที่สุด
                             3. ผู้เล่นกองกลางตัวรุก จะต้องมีลักษณะที่เป็นผู้นำ  มีความคิดสร้างสรรค์ ทักษะดีส่งบอล ทั้งระยะใกล้และระยะไกลได้แม่นยำ มีไหวพริบ พลิกแพลงเปลี่ยนแกนการเล่น เปลี่ยนเกมรับเป็นรุก และสามารถกำหนดเกมรุกโดยสร้างโอกาสได้ตามต้องการ และสามารถส่งบอลในลักษณะกดดันหรือบังคับ (Killer Pass) ได้อย่างสม่ำเสมอ
                              ถ้าโค้ชไม่พิจารณาให้รอบคอบและมอบหน้าที่ให้เหมาะสมกับผู้เล่นแต่ละคนแล้วอาจจะทำให้เกมการเล่นของทีมขาดประสิทธิภาพลงไป..เพราะผู้เล่นกองกลางทุกคนจะเชื่อมั่นในตัวเองว่าเป็นผู้เล่นกองกลางต้องส่งหรือจ่ายบอล แต่ต้องยอมรับซึ่งกันและกันว่าเรานั้นมีไหวปริบ มีเทคนิคและทักษะการจ่ายบอลที่แม่นยำสู้เพื่อนร่วมทีมไม่ได้ ดังนั้นจึงควรจะทำหน้าที่อย่างอื่นที่เหมาะสมจะดีกว่า ไม่ไปแย่งจ่ายบอลเอง ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสที่ดีไป แต่ถ้าไปลงเล่นในโอกาสอื่น แล้วพิจารณาเห็นว่าเพื่อนร่วมทีมคนอื่นมีศักยภาพไม่ดีกว่า เราจึงต้องรับหน้าที่นี้และต้องพยายามทำให้ดีที่สุด..เพื่อผลการแข่งขันที่ดีจะเกิดขึ้นต่อทีมต่อไป..

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561



แนวคิดการฝึกการเล่นกองกลาง

ภาพจาก www.siamsportonline.com

                                      กองกลาง..ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของทีม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกำหนดเกมการเล่นของทีมว่าจะไปทิศทางใด..เช่นจะเป็นเกมรุก หรือเกมรับ จะเน้นทางด้านซ้าย หรือทางด้านขวา รวมทั้งการเจาะทะลุผ่านแนวรับเข้าทำประตู
                                      แต่ในบางทีมจะประสบปัญหาที่ไม่สามารถกำหนดแนวทางการเล่นได้อย่างที่ต้องการ โค้ชจึงต้องดำเนินการพัฒนาให้นักกีฬามีความสามารถอย่างที่ต้องการ
                                    แนวคิดในการพัฒนาผู้เล่นกองกลาง...มีดังนี้
                                   1. สร้างความเข้าใจเทคนิคการเล่นกองกลาง
                                   2. ฝึกซ้อมเทคนิคการเล่นกองกลางแบบต่างๆ
                                   3. ฝึกซ้อมด้วยเกมจำลอง และเกมจริง
                                       การดำเนินการสามารถทำได้ดังนี้...
                                   1. การสร้างความเข้าใจเทคนิคการเล่นกองกลาง..
                                   1.1. ต้องพยายามควบคุมสถานะการณ์รักษาบอลไว้ในความครอบครอง
                                   1.2. ต้องเปลี่ยนแกนการเล่นไปยังพื้นที่ว่างทั้งด้านซ้ายหรือด้านขวา
                                   1.3. ต้องเปลี่ยนเกมการเล่นด้วยการวางบอลระยะไกลที่แม่นยำ
                                   1.4. ต้องส่งบอลทะลุผ่านช่องว่างของแนวรับให้กองหน้า
                                   1.5. ต้องสนับสนุนโดยเคลื่อนตัวเติมผ่านแนวรับขึ้นไปช่วยยิงประตู
                                   1.6. ต้องฝึกยิงบอลระยะไกลหรือจากพื้นที่แถวที่ 2 เมื่อเจาะไม่ผ่านแนวรับ

 ภาพที่ 1

                                    จากภาพที่ 1 ผู้เล่นกองกลางต้องเข้าใจเทคนิคการเล่นว่าจะต้องทำอย่างไร โดยพื้นฐานจะต้องรู้ว่า ต้องส่งบอลไปที่พื้นที่ใดบ้าง พื้นที่หลักจะต้องส่งไปทั้ง 5 พื้นที่ คือส่งบอลเปลี่ยนแกนสลับ ซ้าย-ขวา ในพื้นที่ที่ 1 และ 2 หรือส่งบอลทะลุผ่านช่องว่างไปทางด้านหน้าสู่พื้นที่ที่ 3  และ 5 หรือส่งบอลระยะไกลข้ามแนวรับสู่พื้นที่ที่ 4 เป็นต้น

                                 2. ฝึกซ้อมเทคนิคการเล่นกองกลางแบบต่างๆ..
                                   2.1. ฝึกการครอบครองบอลในแดนกลาง

 ภาพที่ 2

                                 จากภาพที่ 2 ฝึกการครองบอลและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกแบบ 2:2 หรือ 3:3 ในพื้นที่่ 20X30 หลา และมีผู้เล่นช่วยสนับสนุนอยู่ด้านนอกอีก 4 คน คอยช่วยพักบอลให้ฝ่ายที่ได้ครอบครองบอลอยู่ 

                                     2.2. ฝึกการเปลี่ยนแกนการเล่นไปพื้นที่ว่างด้านซ้าย-ขวา
                                   2.3. ฝึกการเปลี่ยนเกมด้วยการส่งบอลระยะไกลที่แม่นยำ

 ภาพที่ 3

                                  จากภาพที่ 3 ฝึกแบบ 2:3 ในพื้นที่ 10X20 หลา ฝึกการครองบอลในพื้นที่สีเหลือง แล้วเปลี่ยนแกนการเล่นไปด้านซ้าย-ขวาไปพื้นที่ที่ 1และ 2 หรือส่งบอลระยะไกลแนวทะแยงไปยังพื้นที่ที่ 3 และ 4 (ถ้าส่งไปสู่เป้าหมายด้านซ้าย-ขวาจะได้ครั้งละ 1 คะแนน แต่ถ้าส่งระยะไกลสู่เป้าหมายได้จะได้คะแนนครั้งละ 2 คะแนน)

                                   2.4. ฝึกการส่งบอลทะลุผ่านแนวรับให้กองหน้า

 ภาพที่ 4

                                 จากภาพที่ 4 การฝึกต่อเนื่องจากภาพที่ 3 (เมื่อฝึกชำนาญแล้ว) ขยายพื้นที่รวมกับพื้นที่สีเขียว และเพิ่มเงื่อนไข ถ้าฝ่ายสีแดงสามารถพาบอลผ่านเข้าไปอยู่ในพื้นที่สีเขียวได้จึงมีสิทธิ์ส่งบอลไปยังพื้นที่ที่ 3, 4,และ 5 จะได้คะแนนเพิ่มครั้งละ 2 คะแนนเป็นต้น
                                   2.5. ฝึกการสนับสนุนโดยเคลื่อนตัวเติมผ่านแนวรับขึ้นไปยิงประตู

 ภาพที่ 5

                                 จากภาพที่ 5 ฝ่ายสีแดงเพิ่มตัวช่วยอีก 1 คนอยู่ในพื้นที่ที่ 5 โดยกำหนดเงื่อนไขต้องรอรับบอลที่ส่งมาจากพื้นที่สีเขียวแล้วทำชิ่งบอลให้ผู้เล่นที่ส่งมาให้นั้นทะลุผ่านขึ้นไปยิงประตู
                                   2.6. ฝึกการยิงบอลระยะไกล จากพื้นที่แถว 2

 ภาพที่ 6

                                  จากภาพที่ 6 การฝึกคล้ายกับการฝึกในภาพที่ 5 แต่กำหนดเงื่อนไขใหม่ โดยเมื่อผู้เล่นที่เป็นตัวช่วยที่อยู่ที่พื้นที่ 5 ได้รับบอลจากการส่งมาให้แล้วส่งบอลย้อนกลับลงมาให้ผู้เล่นกองกลางสีแดงอีกคนหนึ่งที่วิ่งเติมขึ้นมายิงประตูระยะไกลจากแถวที่ 2 เป็นต้น

                                 3. ฝึกการเล่นกองกลางด้วยเกมจำลอง และเกมจริง

ภาพที่ 7

                                 จากภาพที่ 7 เป็นเกมรุก 5:3 โดยจะฝึกการเล่นของกองกลางในพื้นที่สีเหลืองแบบ 2:1 ผู้เล่นฝ่ายรุกต้องนำเทคนิกการเล่นของกองกลางมาใช้  เพื่อหาโอกาสส่งบอลให้ผู้เล่นแดนหน้าทำเกมเข้าไปยิงประตู


ภาพที่ 8

                                จากภาพที่ 8 เมื่อผู้เล่นมีความเข้าใจเทคนิคการเล่นกองกลางดีขึ้น จึงเติมผู้เล่นกองกลางฝ่ายรับอีก 1 คน เพื่อฝึกให้ฝ่ายรุกรู้จักการแก้ไขปัญหา ถ้าเกมไม่ลื่นไหล โค้ชต้องสั่งให้หยุดแล้วแนะนำว่า จะต้องทำอย่างไรจึงเกิดความได้เปรียบในเกมการเล่นนั้น

ภาพที่ 9

ภาพที่ 10

                                 จากภาพที่ 9 และ 10 เป็นการเพิ่มผู้เล่นให้เท่าๆกัน เป็น 5:5 และ 6:6 เพิ่อสร้างเกมจำลองให้คล้ายเกมการเล่นจริงมากขึ้น ผู้เล่นจะต้องฝึกเทคนิคการเล่นกองกลางให้ชำนาญมากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์การเล่นระหว่างผู้เล่นกองกลาง และกองหน้า ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย สุดท้ายจึงจัดการฝึกเป็นเกมจริง 11:11 ต่อไป
                                ตัวอย่างดังกล่าวเป็นแนวคิดพื้นฐานการฝึกผู้เล่นกองกลาง ซึ่งโค้ชต้องจัดแบบฝึกเพื่อพัฒนาการเล่นให้เหมาะสมกับสภาพของนักกีฬาที่มีอยู่  และเพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่กำหนดได้อย่างที่ต้องการ