วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561



ป้องกันอย่างไรให้เสียเปรียบน้อยทีสุด


                                   โค้ชหลายท่านมักจะประสบปัญหาในเกมรับทำให้มีผลการแข่งขันออกมาไม่ดี ทั้งๆที่ได้ว่างรูปแบบและจัดตัวผู้เล่นไว้อย่างดีแล้ว.?
                                  โอกาสที่เป็นเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โค้ชควรจะทบทวนว่าน่าจะเกิดขึ้นมาจากจุดใด ทั้งๆที่มีผู้เล่นในเกมรับมากกว่าอยู่แล้ว  สาเหตุพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความบกพร่องจะมีดังนี้........
                                1. ระยะการยืนป้องกันไม่เหมาะสม  แนวรับของกองกลางมักจะถอยลงมาช่วยตั้งรับ แต่มาใกล้ชิดหรือทับแนวกองหลังมากเกินไป พื้นที่ด้านหน้าแนวรับจะเปิดเป็นพื้นที่ว่าง ทำให้ฝ่ายรุกสามารถครองเกมและมีเวลามากพอที่จะรอจังหวะและหาโอกาสที่ดีสร้างเกมรุกเข้าทำประตูได้หลากหลายวิธี ฝ่ายรับจะไม่ชัดเจนในการประกบตัว ทำให้มีการเกี่ยงกันเข้าแย่งตัดบอล ระบบและจังหวะการป้องกันจะเสียไป
                                2. การประกบตัวไม่ประชิด ยืนประกบตัวห่างเกินไปทำให้ไม่สามารถติดตามการเคลื่อนที่ของผู้เล่นคู่ต่อสู้ได้ทันเหตุการณ์
                                3. ผู้เล่นไม่ปฏิบัติตามหลักการและเทคนิคการป้องกันอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ เช่น..เมื่อเป็นฝ่ายรับ คนที่อยู่ใกล้บอลให้รีบเข้าไปชะลอเกมรุกให้ช้าลง  ผู้เล่นอื่นต้องสร้างความสมดุลลงมาช่วยประกบคู่ต่อสู้ที่อยู่ใกล้ อ่านเกมพร้อมติดตามการเคลื่อนที่สร้างเกมรุกของคู่ต่อสู้ และพยายามควบคุมสถานะการณ์เพื่อสร้างความได้เปรียบเบียดแย่งชิงตัดบอลจากคู่ต่อสู้
                                4. การประกบตัว ต้องยืนในจุดที่ได้เปรียบเพื่อปิดโอกาสการเล่นของคู่ต่อสู้ให้มากที่สุด หรือเมื่อคู่ต่อสู้ครอบครองบอลอยู่ ต้องยืนปิดมุมเพื่อให้เล่นได้ทางเดียวและไม่ให้ส่งบอลหรือเลี้ยงบอลทะลุผ่านไปโดยง่าย
                                5. การแย่งบอล เมื่อยืนในจุดที่ได้เปรียบ จะสามารถอ่านเกมแล้วชิงตัดบอลได้ก่อน หรือถ้าคู่ต่อสู้ครองบอลได้ ให้บังคับให้เล่นทางเดียวหรือบีบให้เล่นในพื้นที่ปิด กดดันไล่แย่งชิงตัดบอล
                                6. ต้องจัดระบบการสอดซ้อนช่วยเหลือกัน และต้องสร้างความสัมพันธ์หมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อให้เกิดแนวรับเสริมขึ้นใหม่เพิ่มเติมขึ้นอีก
                                7. ต้องรักษาสมาธิ สามารถควบคุมอารมณ์ และกระตุ้นตัวเองให้พร้อมรับสถานะการณ์ที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา 
                                8. ต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ตลอดเวลาการแข่งขัน
                                    สาเหตูต่างๆที่ได้กล่าวไปนั้น โค้ชลองนำไปพิจารณาว่างผู้เล่นในทีมยังขาดสิ่งใดไปบ้าง หมั่นฝึกซ้อมให้เกิดความชำนาญ ทีมก็จะมีเกมรับที่แข็งแกร่งได้มากยิ่งขึ้น....

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561



การพัฒนาเกมรับด้วยเกมสนามเล็ก

                                   โค้ชมักจะพบสภาพปัญหา ที่นักฟุตบอลเสียสมาธิและขาดวินัยในเกมรับจึงทำให้สถานะการณ์ของทีมเสียเปรียบคู่ต่อสู้ แนวทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาความรู้ความเข้าใจและศักยภาพให้กับนักฟุตบอลได้ดีขึ้นโดยใช้ การฝึกด้วยเกมสนามเล็ก..ตัวอย่างเช่น..
  
 ภาพที่ 1

                                 จากภาพที่ 1 การฝึกด้วยการเล่น 3:3 ในขนาดสนาม 20x40 หลา ประตู 2 ประตู ลูกบอล 6 ใบ
                                 เริ่มการฝึก ฝ่ายแดงหมายเลข 9 พาบอลบุกเพื่อไปยิงประตู ส่วนผู้เล่นสีน้ำเงินหมายเลข 5 จะเป็นฝ่ายรับต้องพยายามป้องกันไม่ให้ฝ่ายสีแดงยิงประตูได้

 ภาพที่ 2

                                   จากภาพที่ 2 สถานะการณ์ต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายรุกสีแดงยิงประตูได้ หรือฝ่ายรับสีน้ำเงินแย่งตัดบอลกลับคืนมาได้ ให้เปิดเกมรุกกลับไป และให้เพิ่มผู้เล่นหมายเลข 4 เข้าไป ผู้เล่นสีแดงหมายเลข 9 ต้องรีบถอยกลับลงมาป้องกันทันที และต้องใช้เทคนิคการป้องกันแบบ 1:2 ในการป้องกันการยิงประตู

 ภาพที่ 3

                                  จากภาพที่ 3 สถานะการณ์ต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายรุกสีน้ำเงินยิงประตู หรือฝ่ายรับสีแดงแย่งตัดบอลได้ ให้เปิดเกมรับกลับไปพร้อมเพิ่มผู้เล่นอีก 2 คนคือหมายเลข 8 และหมายเลข 10 สีน้ำเงินจะกลับมาเป็นฝ่ายรับต้องรีบถอยกลับลงมาป้องกันทันที และต้องใช้เทคนิคการป้องกันแบบ 2:3 ในการป้องกันประตู
                                 ถ้าฝ่ายรุกสีแดงยิงประตูได้ หรือฝ่ายรับสีน้ำเงินแย่งบอลได้ให้เปิดเกมรุกกลับไปและเติมผู้เล่นหมายเลข 3 เข้าไป ฝ่ายสีแดงต้องรีบถอยกลับลงมาป้องกันโดยใช้เทคนิคการเล่นเกมรับแบบ 3:3........เมื่อเกมจบให้เริ่มต้นฝึกใหม่ เน้นสลับผู้เล่นในชุดต่างๆเพื่อให้ผู้เล่นได้พัฒนาเทคนิคการป้องกันในแบบต่างๆเพื่อให้เกิดความชำนาญ ทำให้เล่นกันได้อย่างสัมพันธ์กันดี และสามารถทำได้อย่างอัตโนมัติ ประสิทธิภาพในการเล่นเกมรับจะพัฒนาได้แน่นอน....    

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561



ฝึกการสร้างสัญชาตญาณเกมรับ

                                     โดยปกติเด็กและยาวชนที่เล่นฟุตบอลจะชื่นชอบในการเล่นเกมรุกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นความสนุกและท้าทาย ในทางกลับกันพวกเขาเหล่านั้นมักจะไม่ค่อยชอบเล่นเกมรับเลย สิ่งนี้จะเป็นปัญหาเรื้อรังที่จะติดตัวพวกเขาต่อไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะเมื่อเขาเล่นในเกมฟุตบอล นักฟุตบอลเหล่านี้จะสนุกกับการเติมขึ้นไปเล่นเกมรุกอย่างมาก แต่เมื่อเสียการครอบครองบอลไปเขามักจะเดิน และไม่กระตือรือร้นที่จะรีบถอยกลับลงมาประกบตัวเล่นเกมป้องกัน หรือไล่แย่งบอลกลับคืนมาทันที
                                   ดังนั้นโค้ชจึงต้องเตรียมการแก้ไขและพัฒนาตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เพื่อให้นักกีฬาเหล่านั้นมีความพร้อม มีสัญชาตญาณและมีสมาธิ สามารถเล่นได้ตามบทบาทหน้าที่การเล่นเกมรับได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถพัฒนาได้จากเกมการฝึกซ้อม...
                                  1.ฝึกการรุกแล้วถอยกลับลงมาเตรียมป้องกัน

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2

                                จากภาพที่ 1 และ 2 เป็นสถานการณ์ที่ผู้เล่นหมายเลข 8 และหมายเลข 9 ฝึกเกมการเข้าทำประตู 


ภาพที่ 3

                                 จากภาพที่ 3 จะเป็นสถานะการณ์ต่อเนื่องจากการจบด้วยการยิงประตู ซึ่งผลจะเข้าหรือไม่เข้าก็ตาม การฝึกบทบาทหน้าที่และสร้างสัญชาตญาณของการป้องกัน คือผู้เล่นทั้ง 2 คนนั้นจะต้องรีบวิ่งกลับลงมาให้ผ่านเส้นเริ่มต้นให้เร็วที่สุด เพื่อฝึกไม่ให้ผู้เล่นยืนค้างอยู่ในแดนหน้า แล้วปล่อยให้กองกลาง และกองหลังทำหน้าที่ป้องกัน กันเอง...แต่ถ้าโค้ชต้องการสร้างวินัยหรือฝึกอย่างเข้มข้นอาจจะใช้ระยะเวลาเป็นตัวกำหนดในการวิ่งกลับมาเข้าสู่แดนตัวเอง.. เช่นต้องกลับมาให้ทันระหว่างช่วงเวลาที่โค้ชจะนับเลขจาก 1-10
                                     2. ฝึกเกมรับ 3:3 ในสนามเล็ก 

ภาพที่ 4

                                      จากภาพที่ 4 เป็นการฝึกด้วยเกมสนามเล็ก 3:3 ผู้เล่นฝ่ายสีแดงกำลังเปิดเกมรุก 

ภาพที่ 5

                                 จากภาพที่ 5 เมื่อฝ่ายสีน้ำเงินตัดแย่งบอลได้ แและกำลังเปิดเกมรุกกลับมาโดยส่งบอลมาให้ผู้เล่นหมายเลข 6  ดังนั้นผู้เล่นสีแดงหมายเลข 8 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งด้านหลังสุดที่คอยสนับสนุนการเล่นของผู้เล่นด้านหน้าทั้งหมายเลข 9 และหมายเลข 10 นั้น เห็นว่าฝ่ายสีน้ำเงินบุกทะลุผ่านแนวรับด้านหน้ามา ต้องรีบเคลื่อนที่ออกมาประชิดเพื่อหน่วงเหนี่ยวให้เกมรุกของฝ่ายสีน้ำเงินรุกคืบหน้าได้ช้าลง จึงทำให้มีเวลาปรับความสมดุลของเกมรับ โดยหมายเลข 9 ต้องถอยติดตามประกบหมายเลข 4 และหมายเลข 10 จะเคลื่อนไปประกบหมายเลข 5 ทันที  

 ภาพที่ 6

                                จากภาพที่ 6 ในสถานะการณ์ต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายแดงสามารถชะลอเกมรุกของฝ่ายสีน้ำเงินได้แล้ว จึงขยับตำแหน่งปรับรูปทรงของทีมในเกมรับให้เหมาะสม เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่ดีในสถานะการณ์ที่สามารถคุมได้ทั้งคนและพื้นที่ โดยฝ่ายแดงหมายเลข 9 จะขยับลงมาเป็นตัวสุดท้ายเพื่อคอยสอดซ้อนช่วยเหลือผู้เล่นหมายเลข 8 และหมายเลข 10 ที่คุมและตามประกบคู่ต่อสู้อยู่ทำให้แนวรับเหนียวแน่นยิ่งขึ้น..
                               จะเห็นได้ว่าการฝึกด้วยเกมสนามเล็กจะสร้างความเข้าใจในบทบาทความรับผิดชอบ สร้างวินัยในการป้องกัน เมื่อเสียการครอบครองบอลไป ซึ่งทุกคนต้องรีบถอย กลับมาตั้งรับ หมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกบตัวคู่ต่อสู้เพื่อเล่นเกมป้องกันทันที.....สัญชาตญาณการเล่นเกมรับทีดีนี้จะติดตัวนักฟุตบอลแต่ละคนตลอดไป..

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561



แนวทางการฝึกเพื่อสร้างรูปทรงของทีม

ภาพจาก www.proja.ir
                                     
                                    ทำอย่างไรจึงจะสร้างให้ผู้เล่นรักษารูปทรงของทีมได้อย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่โค้ชต้องคิดรูปแบบการฝึกซ้อมแบบพื้นฐานได้ดังนี้...

                                   1.โค้ชต้องกำหนดระบบการเล่นของทีม

ภาพที่ 1

                                    จากภาพที่ 1. โค้ชต้องพิจารณาว่าทีมของตัวเองนั้นควรจะเล่นในระบบรูปแบบใด เช่นเมื่อโค้ชกำหนดระบบการเล่นของทีมเป็นแบบ 4:4:2 ดังนั้นต้องจัดผู้เล่นลงในกลุ่มกองหลัง กองกลาง และกองหน้า ตามแบบและเป็นรูปทรงของทีมที่กำหนด

                                    2.สร้างความเข้าใจสถานะการณ์เกมที่กำหนด
 
ภาพที่ 2
                                    จากภาพที่ 2 โค้ชต้องสร้างความเข้าใจสถานะการณ์ตามเกมเกมที่กำหนด เช่นการเปิดเกมรุกทางด้านขวา เบ็คขวาเปิดบอลให้ปีกขวาหมายเลข 7  กองหน้าหมายเลข 9 เคลื่อนที่ออกไปรับบอลด้านข้างจากปีกขวา ทำให้ผู้เล่นกองหน้าที่ต้องทำหน้าที่กดดันบริเวณหน้าเขตโทษและเพื่อหาโอกาสยิงประตูจะเหลือหมายเลข 10 เพียงคนเดียว ดังนั้นกองกลางหมายเลข 6 ต้องเติมเกมรุกขึ้นไป ทำให้รูปทรงของทีมเปลี่ยนไปเป็น 4:3:3
                                3.เน้นการเคลื่อนที่เติมพื้นที่ว่าง

ภาพที่ 3

ภาพที่ 4

                                   จากภาพที่ 3 สถานะการณ์เกมรุกควรเล่นให้เต็มพื้นที่ ดังนั้นผู้เล่นต้องเคลื่อนที่เติมเต็มในพื้นที่ว่าง โดยผู้เล่นปีกซ้ายหมายเลข 11 เคลื่อนที่เติมขึ้นไปสู่พื้นที่ว่างแดนหน้าด้านซ้าย กองหน้าจะมีผู้เล่นเต็มพื้นที่ 4 คน ส่วนกองกลาง และกองหลังต้องขยับเคลื่อนตามขึ้นมา รูปทรงของทีมจะปรับเป็น 4:2:4 
                                  จากภาพที่ 4 ในบางโอกาสเมื่อต้องการกดดันเปิดเกมรุกให้เต็มพิกัด จะเห็นได้ว่ากองกลางหมายเลข 8 จะเคลื่อนขยายแนวออกมาประคองทางด้านซีกซ้ายมากขึ้น ส่วนหมายเลข 7 จะคอยประคองอยู่ที่พื้นที่ด้านขวา พื้นที่บริเวณตรงกลางจะเปิดกว้างทำให้ผู้เล่นกองกลาง 2 คนทำหน้าที่ได้ลำบากไม่ครอบคลุมพื้นที่อย่างที่ต้องการ ดังนั้นกองหลังหมายเลข 4 เคลื่อนตัวขึ้นไปเติมยังพื้นที่ว่างนั้น รูปทรงของทีมจะปรับเป็น 3:3:4 เป็นต้น
                                 4.เกมเปลี่ยนต้องถอยลงมาตั้งรับ/สลับตำแหน่ง
                           
ภาพที่ 5

ภาพที่ 6

                                  จากภาพที่ 5 เมื่อเสียการครอบครองบอลไป ต้องปรับเป็นเกมรับทันที เช่นคู่ต่อสู้บุกโจมตีกลับมาทางด้านแบ็คขวาของทีมเรา ตามหลักของเกมรับผู้เล่นที่อยู่ใกล้คู่ต่อสู้ที่มีบอล ต้องเคลื่อนตัวเข้าไปขวางเพื่อชะลอให้คู่ต่อสู้บุกทะลวงได้ช้าลง และให้ผู้เล่นคนอื่นรีบเคลื่อนที่ถอยกลับลงมาช่วยป้องกันในเกมรับ ซึ่งอาจจะต้องหมุนเวียนแทนตำแหน่งกันมาป้องกัน เช่นผู้เล่นหมายเล่น 2 และผู้เล่นหมายเลข 4 เคลื่อนที่เข้าไปประชิดเพื่อชะลอเกมของคู่ต่อสู้ ทำให้หมายเลข 4 ถอยลงไปเข้าแนวป้องกันของกองหลัง และผู้เล่นหมายเลข 6 ถอยกลับลงมาเข่าสู่แนวป้องกันของกองกลาง รูปทรงของทีมจะปรับในระยะแรกเป็น 4:3:3 
                                 จากภาพที่ 6 เมื่อเกมรับอยู่ทางด้านขวา ผู้เล่นจะขยับเทตามไปทางด้านซีกขวามากขึ้น ผู้เล่นหมายเลข 11 ก็จะต้องรีบถอยลงมาช่วยขุมกำลังกองกลางและคอยควบคุมสถานะการณ์ในพื้นที่ด้านซ้าย และปรับรูปทรงของทีมเป็น 4:4:2 เข้าสู่ระบบเดิมได้ทันที
                              สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง..ผู้เล่นทุกตำแหน่งต้องเข้าใจหลักการเล่น และต้องมีวินัยอย่างมากที่จะรักษารูปทรงของทีมให้สมดุลย์ไว้เสมอ    ดังนั้นขุมกำลังทั้งกองหน้า  กองกลาง และกองหลังต้องปรับตำแหน่งให้ครบเพื่อคุมพื้นที่ในแต่ละแดน และต้องรักษาระยะของขุมกำลังให้เหมาะสมไม่ห่าง หรือใกล้ชิดกันเกินไปเพราะจะทำให้รูปทรงของทีมเสียไป ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในทีมช่วยสนับสนุนการเล่นทั้งเกมรุก-เกมรับซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถรักษารูปทรงของทีมไว้ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเกม ไม่เปิดพื้นที่ว่างให้คู่ต่อสู้บุกเข้าโจมตีได้โดยง่าย....
                                

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561



พื้นฐานการสร้างรูปทรงของทีม

 ภาพจาก www.bugaboo.tv

                                      เรามักจะพบว่าทีมที่แข่งขันอยู่นั้น บางช่วงเวลารูปทรงของทีมเสียไป ผู้เล่นในตำแหน่ง กองหน้า กองกลาง หรือกองหลังไม่สามารถรักษาตำแหน่งและพื้นที่ในแต่ละขุมกำลังไว้ได้สม่ำเสมอ บางครั้งมีการขาดหายไปเป็นช่วงๆ หรือเป็นระยะๆ ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนให้คู่ต่อสู้บุกเข้ามายึดและสร้างความได้เปรียบในเกมการเล่นได้มากกว่า
                                       โค้ช..ควรทำอย่างไร.? วิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ได้ น่าจะเป็นแนวทางดังนี้
                                  1. โค้ชต้องกำหนดระบบการเล่นของทีมไว้ชัดเจน เช่นเกมรับใช้ระบบอะไรผู้เล่นจะยืนประจำตำแหน่งอย่างไร เมื่อเปลี่ยนเป็นเกมรุกจะปรับเป็นระบบอะไรผู้เล่นจะเคลื่อนตำแหน่งกันอย่างไร
                                  2. โค้ชต้องทำให้ผู้เล่นเกิดความรู้และเข้าใจในระบบการเล่นนั้น
                                  3. โค้ชต้องฝึกให้ผู้เล่น สามารถเล่นในระบบการเล่นนั้นได้
                                  4. โค้ชต้องฝึกผู้เล่น ให้สามารถเล่นในสถานะการณ์ต่างๆ ทั้งรุกและรับ ได้อย่างถูกต้องสัมพันธ์กัน
                                    ถ้าสามารถฝึกได้ตามนี้ ผู้เล่นทุกตำแหน่งจะสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่ง ทั้งสนับสนุนเติมเกมรุก และเคลื่อนตัวถอยกับลงมาช่วยเกมรับ ทำให้ผู้เล่นกองหน้า กองกลางและกองหลัง มีผู้เล่นครบไม่ขาดหายไป ในภาพรวมรูปทรงของทีมจะมีผู้เล่นเต็มทุกขุมกำลังในทุกพื้นที่ จะทำให้ทีมมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น................ส่วนแนวทางการฝึกจะนำเสนอในครั้งต่อไป.....