วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2561



แนวคิดการพัฒนาฟุตบอลไทย..ให้คุ้มการลงทุน

ภาพจาก www.thaibev.com
                                  สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ลงทุนพัฒนาโค้ชไปแล้ว ผลการพัฒนาฟุตบอลไทยยังไม่ก้าวหน้าให้เห็นได้อย่างชัดเจน
                                    ขอร่วมด้วยช่วยคิด..แนวทางการพัฒนาให้คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนไปแล้ว การดำเนินการควรจะบูรณาการ แบบร่วมด้วยช่วยกัน คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆต้องมาทำ MOU เพื่อทำความร่วมมือช่วยกันเพื่อพัฒนาฟุตบอลไทย ดังนั้นจึงน่าจะเป็นแนวทางดังนี้
                                  1.สมาคมฟุตบอลฯต้องทำ MOU กับกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นต้น เพราะแต่ละองค์กรจะเกี่ยวข้องกับนักกีฬาฟุตบอลจำนวนมากทั่วประเทศ โดยให้ช่วยกำหนดเกณฑ์ความรู้ของโค้ชต้องผ่านการอบรมตั้งแต่ระดับ T-Licences, C-Licences ขึ้นไปทำหน้าที่ฝึกสอนนักกีฬา   เพื่อเข้าร่วมแข่งขันในกีฬานักเรียน   และกีฬาเยาวชนแห่งชาติ  กีฬามหาวิทยาลัยฯ และกีฬาแห่งชาติ ซึ่งจะปูพื้นฐานการเล่นกีฬาฟุตบอลให้ได้มาตรฐานสากล
                                  2.สมาคมฟุตบอลฯต้องวางกรอบรูปแบบแนวทางการเล่น ระบบและเทคติก การเล่นที่เหมาะสมกับคนไทย ไว้เป็นแนวทางพื้นฐานให้โค้ชและนักฟุตบอลเรียนรู้และพัฒนา
                                  3.สมาคมฟุตบอลฯต้องสนับสนุนการจัดการแข่งขันฟุตบอลในทุกระดับให้เป็นระบบสากล ควบคุมผู้ตัดสินให้ทำหน้าที่ได้ดีถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกมการเล่นเป็นไปตามมาตรฐานอีกด้วย
                                 4.สมาคมฟุตบอลฯต้องจัดตั้งศูนย์พัฒนาฟุตบอลของสมาคมฯประจำภาค 4-5ศูนย์ทั่วไทย และมีทีมงาน scout ไปเสาะหานักฟุตบอลดาวรุ่งแต่ละกลุ่มอายุเข้าสู่ศูนย์ฝึกเพื่อนำมาพัฒนาต่อไป
                                 5.สมาคมฟุตบอลฯจัดยุทธศาสตร์การพัฒนาประสบการณ์นักฟุตบอลประจำศูนย์พัฒนา โดยการประลองและแข่งขันอย่างสม่ำเสมอ คัดเลือกเพื่อจัดลำดับความสามารถนักฟุตบอลและนำไปพัฒนาต่อในศูนย์พัฒนาทีมชาติต่อไป
                                 6.สมาคมฟุตบอลฯควรจะให้การสนับสนุน อดีตนักฟุตบอลทีมชาติหรืออดีตนักฟุตบอลอาชีพ ที่ยังรักผูกพันกับกีฬาฟุตบอลที่ได้เข้ารับการอบรมเพื่อเป็นโค้ช Licences ระดับต่างๆ ให้ได้รับโอกาสทำหน้าที่โค้ชเพื่อพัฒนาเยาวชนกลุ่มต่างๆ โดยประสานกับการกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนดให้สมาคมกีฬาจังหวัดทุกจังหวัด รับบุคลเหล่านี้ไปเป็นโค้ชฟุตบอลของแต่ละจังหวัด เพราะโค้ชเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก อีกทั้งยังสามารถนำประสบการณ์ที่ดีมาถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นต่อไป อีกทั้งยังสนับสนุนให้พวกเขามีอาชีพที่เขารักรองรับอีกด้วย..
                                 7.สมาคมฟุตบอลฯควรจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดค่าตอบแทนรายเดือนขั้นต่ำ ในการปฏิบัติหน้าที่ของโค้ชที่ผ่านหลักสูตรโค้ช Licences ระดับต่างๆอย่างเหมาะสม เพื่อกำหนดตำแหน่งในการประกอบอาชีพต่อไป 
                                  การพัฒนาศักยภาพนักฟุตบอลของไทย ถ้าทำอย่างเป็นระบบจะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาก้าวไปสู่ระดับสากลได้ ฝันที่ไทยจะไปบอลโลกนั้นน่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก....
                                 

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561




การพัฒนาฟุตบอลต้องทำให้คุ้มทุน

ภาพจาก www.FA Thailand.org

                                  การบริหารงานของสมาคมฟุตบอลฯของไทยแต่ละสมัย จะมีแนวคิดการพัฒนาวงการฟุตบอลคล้ายๆกัน เช่นมีโครงการอบรมโค้ชให้มีความรู้ Licences ตามมาตรฐาน FIFA กำหนด แล้วมีโครงการพัฒนานักฟุตบอลทีมชาติแต่ละชุด
                                    ถ้าพิจารณาแบบเจาะลึก..จะพบว่าการพัฒนาที่ผ่านๆมานั้นมีผลสัมฤทธิ์ไม่คุ้มค่าการลงทุน และมาตรฐานการเล่นของทีมฟุตบอลไทยยังเล่นอยู่ในระดับอาเซี่ยนเหมือนเดิม ทั้งๆที่เรามีโค้ชที่ผ่านการอบรม Licences ระดับต่างๆเพิ่มมากขึ้น
                                 ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากสาเหตุต่อไปนี้
                                  1. บางคนที่ได้รับโอกาสเข้ารับการอบรมไม่ใช่ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ฝึกแและพัฒนานักกีฬาจริง เพราะคนพวกนี้ต้องการเพียงใบประกาศที่ผ่านการอบรมไปไว้ประดับบารมีเท่านั้น จึงมักจะหาช่องทางพิเศษเพื่อเข้าอบรมในทุกระดับเท่านั้น
                                  2. สมาคมฟุตบอลฯ ขาดแผนยุทธศาสตร์ในการควบคุม กำกับติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของโค้ชหลังการอบรมว่าที่ได้ทำจริง และมีผลการพัฒนางานอย่างไร
                                  3. สมาคมฟุตบอลฯ ขาดแผนยุทธศาสตร์การจัดกลุ่มและจัดอันดับความสามารถของโค้ชไว้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาคัดเลือกโค้ชมาใช้งาน และส่งเสริมให้พัฒนาความรู้เพิ่มขึ้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป
                                  4. สมาคมฟุตบอลฯ ขาดแผนยุทธศาสตร์การตั้งศูนย์ฝึกเพื่อพัฒนานักฟุตบอล 4-5 ศูนย์ไว้ทุกภาคทั่วประเทศ และศูนย์ฝึกทีมชาติที่ส่วนกลางอีก 1 ศูนย์ เพราะเป็นการขยายโอกาสให้เยาวชนที่อาจจะเป็นช้างเผือกในอนาคตให้ได้รับโอกาสพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มจำนวนนักฟุตบอลดาวรุ่ง ที่มีความสามารถดีในตำแหน่งต่างๆให้มีมากขึ้นด้วย และเป็นโอกาสดีให้นักฟุตบอลเหล่านั้นต้องแข่งขันกัน พัฒนาศักยภาพของตนให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
                                ซึ่งจะเห็นได้ว่า การลงทุนในการพัฒนาความรู้ให้บุคลากรเพื่อเป็นโค้ชไม่ใช่น้อย แต่ภาคภูมิใจเพียงปริมาณที่เพิ่มขึ้นของจำนวนโค้ชเท่านั้น ในความเป็นจริงยังไม่เพียงพอ..น่าจะต้องดูที่คุณภาพ ว่าโค้ชที่ผ่านการอบรมไปแล้วได้นำความรู้ไปใช้ พัฒนานักกีฬาในทุกระดับได้จริง และยกระดับมาตรฐานขีดความสามารถของนักฟุตบอลให้สูงขึ้นเทียบชั้นกับมาตรฐานสากล รวมถึงเพิ่มจำนวนนักฟุตบอลเหล่านี้ให้มีมากขึ้นด้วย เพื่อเป็นขุมกำลังที่สำคัญไว้ให้สมาคมฟุตบอลฯได้เลือกและนำไปใช้เป็นตัวแทนของทีมชาติในแต่ละชุดต่อไป...

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561



ฝึกแบบ Cognitive Training Patterns สำคัญอย่างไร.!!

ภาพจาก www.springnews.co.th

                                    เวลาเราได้ชมเด็กไทยแข่งขันฟุตบอลในรายการแข่งขันระดับนานาชาติ มีหลายๆสถานะการณ์ ที่ทำให้เรามีความรู้สึกว่าอึดอัด เพราะผู้เล่นนั้นไม่ได้เล่นในแบบที่เราคิด และการเล่นแบบนั้นทำให้สถานะการณ์เกมก็ไม่เกิดความได้เปรียบอีกด้วย
                                   ถ้าเปรียบเทียบหลายๆด้านแล้วจะพบว่า เด็กไทยมีทักษะความสามารถเฉพาะตัวไม่ได้น้อยหน้าชาติไหนๆ หรือบางที่จะมีความสามารถดีกว่าด้วยซ้ำไป แต่พอลงเล่นทีมหรือเข้าสู่การแข่งขันเด็กเหล่านี้กลับทำผลงานออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น
                                   สาเหตุที่ทำให้เกิดความบกพร่องดังกล่าว..น่าจะมีดังต่อไปนี้
                                 1.ไม่รู้และไม่เข้าใจรูปแแบบการเล่นที่เหมาะสม
                                 2. เล่นตามความรู้สึกหรือตามความคิดของตนเอง
                                   จากสาเหตุดังกล่าว ถ้าดูผ่านๆแล้วจะคิดว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญอะไร แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่าเป็นเรื่องจริง การที่เราจะต้องทำภาระกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นเป็นอย่างดี จะทำให้เรารู้กระบวนการ ขั้นตอนและสามารถปฏิบัติภาระกิจนั้นได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและเกิดความสำเร็จได้โดยง่ายหรือมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้น้อยมาก
                                  ในเกมฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน นักกีฬาคนใดถ้ารู้และเข้าใจเทคนิคและแทคติกการเล่นดี ก็จะมีวิธีการเล่นที่เหมาะสมมาใช้ในสถานะการณ์ต่างๆได้ นักกีฬาคนนั้นจะมีความโดดเด่นในสนาม ซึ่งผู้เล่นลักษณะเช่นนี้ จะมีอยู่จำนวนไม่มากนัก ทั้งๆที่โค้ชหลายๆคนได้ดำเนินการฝึกซ้อมด้วยแบบฝึกที่ได้รับจากการอบรมในระดับต่างๆมา อันที่จริงไม่ใช่เรื่องที่ผิดเพราะมีบางคนสามารถเล่นได้ดีขึ้น แต่ยังมีนักกีฬาอีกส่วนใหญ่ที่ยังพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
                                  โค้ชที่ดีต้องรับภาระในการพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาส่วนใหญ่ให้มีศักยภาพในการเล่นดียิ่งขึ้น มิฉะนั้นนักกีฬาชุดดังกล่าวจะเล่นร่วมกันได้ไม่ลื่นไหลขาดความสัมพันธ์กันอย่างที่ควรจะเป็น
                                  ดังนั้นสิ่งที่โค้ชต้องจัดการในการฝึกซ้อม..ต้องทำในเชิงลึก..ดังนี้
                                1.ให้ความรู้ความเข้าใจเทคนิคและแทคติกการเล่น
                                  2.ฝึกแบบการเล่นซ้ำๆให้เกิดความชำนาญ
                                  3.ย้ำเตือนและปรับทัศนคติ ให้เล่นตามสถานะการณ์เกม


 ภาพจาก www.knowhowsoccer.com

                            1. ให้ความรู้ความเข้าใจเทคนิคและแทคติกการเล่น..หมายถึง โค้ชต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้นักกีฬาเกี่ยวกับ..
                                1.1. อะไรคือรูปแบบ เทคนิค แทคติกและวิธีการเล่นที่เหมาะสมในการเล่น
                                1.2. เมื่อไรจะนำวิธีการเล่นแบบนี้ไปใช้เล่น
                              1.3. ทำไมจึงต้องใช้วิธีการเล่นแบบนี้
                              1.4. ผู้เล่นคนใดบ้างต้องมีส่วนร่วมในการเล่นตามแบบวิธีการเล่นนี้  
                                การพัฒนาต้องเกิดขึ้นทั้งด้านความสามารถทางร่างกาย และทางด้านจิตในรูปแบบความคิดอย่างมีเหตุผล จึงจะทำให้นักกีฬามีความเข้าใจว่าสถานะการณ์ไหน ควรจะนำวิธีการเล่นแบบใดไปใช้เล่น เพราะถ้าเลือกวิธีการเล่นที่ถูกต้องจะทำให้เกิดความได้เปรียบในการเล่นในสถานะการณ์นั้นทันที 
                           2. ฝึกแบบการเล่นซ้ำๆห้เกิดความชำนาญ..หมายถึง โค้ชต้องเตรียมแบบฝึกให้นักกีฬาฝึกการเล่นตามแบบที่กำหนดได้อย่างถูกต้องสัมพันธ์กัน จนเกิดความชำนาญ และทุกคนต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันว่า สถานะการณ์ใดควรจะเล่นแบบใดจึงได้เปรียบ 
                           3. ย้ำเตือนและปรับทัศนคติ ให้เล่นตามสถานการณ์เกม..หมายถึง โค้ชต้องแนะนำให้นักกีฬาทุกคนตระหนักรู้ว่า ฟุตบอลเป็นกีฬาทีมไม่ควรเล่นแบบโชว์คนเดียว จึงไม่ควรเล่นตามความคิดเฉพาะตน แต่ควรจะเล่นตามวิธีการที่เหมาะสมในสถานะการณ์ที่พบนั้นตามที่ฝึกซ้อมมา เพื่อการเล่นที่เล่นได้ง่ายและได้เปรียบเหนือกว่าคู่ต่อสู้นั้นทันที.....
                                    ถ้าสามารถฝึกซ้อมนักกีฬาให้มีเทคนิค แทคติกในการเล่นที่ดีและมีความชำนาญแล้ว ยังต้องพัฒนาให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าเล่นอย่างไรจึงได้เปรียบอีกด้วย ซึ่งจะปรับเป็นเชาว์ปัญญา ทำให้มีไหวพริบในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีวิธีการเล่นที่เหมาะสมได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อได้ลงเล่นในเกมการแข่งขัน จะทำให้นักกีฬาแต่ละคนมีความสามารถในการเล่นได้โดดเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การเล่นของทีมมีรูปแบบการเล่นที่ดีและมีผลการแข่งขันที่ดีอีกด้วย.....
                                    

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561



ทำไมจึงต้องฝึกเกมสนามเล็ก (Small-sided Games)

ภาพจาก www.smile football club.com

                             บางคนยังเข้าใจผิดคิดว่าการฝึกหรือเล่นในสนามเล็ก จะพัฒนาเด็กและเยาวชนได้น้อยกว่าการเล่นทีม 11 คน
                               อันที่จริง การฝึกซ้อมทั้งสองแบบ สามารถพัฒนาทักษะความสามารถของเด็กและเยาวชนได้เหมือนกัน เพียงแต่การฝึกแบบทีม 11 คนพัฒนาในบางทักษะให้เกิดขึ้นได้น้อยและช้ากว่าการฝึกซ้อมด้วยกิจกรรมเกมในสนามเล็ก
                            ทำไมการฝึกซ้อมในสนามเล็กจึงมีความสำคัญ... เหตุผลที่สนับสนุนมีดังนี้                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                            
                              1. เป็นกิจกรรมการฝึกที่เหมาะสมกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน
                              2. เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ เทคนิคการเล่นต่างๆตั้งแต่ขั้นพื้นฐานขึ้นไป
                              3. เด็กจะได้รับการฝึกกิจกรรม โดยเด็กทุกคนจะมีโอกาสทำกิจกรรมที่ต้องการพัฒนาตลอดเวลา และทำซ้ำๆบ่อยๆ จนเกิดเป็นความชำนาญ
                              4. แก้ปัญหาให้โค้ชบางคน ที่คิดว่ามีพื้นที่สนามในการฝึกซ้อมขนาดเล็ก ไม่ได้ตามขนาดมาตรฐาน แต่สามารถดำเนินการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาเด็กได้เช่นกัน
                              5. โค้ชสามมารถกำหนดกิจกรรมตามที่ต้องการ เช่น..กิจกรรมพัฒนาความสามารถเฉพาะตัว หรือกิจกรรมพัฒนาเทคนิคการเล่นในสถานะการณ์ต่างๆ และกำหนดความหนักของงานได้ตามความเหมาะสมของแผนพัฒนาฯ เช่น..กิจกรรมจะพัฒนาสมรรถภาพทางกายถึงระดับ แอโรบิกและสามารถพัฒนาความเข้มข้นขึ้นไปถึงระดับ แอโรบิกผสมกับความอดทน (Aerobic Endurance)
                              6. เกมสนามเล็กจะเป็นสถานะการณ์เกมบางส่วน ในการเล่นทีม 11 คน เพราะในเกมสนามใหญ่ ผู้เล่นทั้ง 11 คนจะไม่ได้เล่นในสถานะการณ์เกมเดียวกันพร้อมกันทุกคน แต่จะมีผู้เล่นที่เกี่ยวข้องกันจริงจริงในสถานะการณ์นั้นๆเพียง 1-4 คนเท่านั้น ซึ่งถ้าแบ่งพื้นที่สนามใหญ่ออกเป็นส่วนๆ จะเห็นได้ว่า มีพื้นที่บางส่วนเท่านั้นที่มีสถานะกาณ์เกมการเล่นเกิดขึ้น และมีผู้เล่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งเท่านั้น สมมุติว่าถ้ายกพื้นที่ดังกล่าวนั้นออกมา จะเห็นได้ว่าเกมการเล่นในพื้นที่ตรงนั้น  จะมีลักษณะเหมือนกับการฝึกกิจกรรมเกมสนามเล็กนั่นเอง...
                              โค้ชที่ดีจะต้องสามารถมองภาพดังกล่าวได้ และสามารถคิดแผนการพัฒนา จัดทำแบบฝึก และรูปแบบกิจกรรมการฝึกเพื่อนำมาใช้ฝึกซ้อมเพื่อให้ผู้เล่นเกิดการพัฒนาการ และเพิ่มในส่วนที่ขาดตามแผนพัฒนาที่กำหนดได้...ถ้าเด็กได้ทำการฝึกในทุกๆสถานะการณ์ และมีความเข้าใจการเล่นดีแล้ว เมื่อลงเล่นเป็นทีม 11 คน ก็จะทำให้เกมมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นด้วย......

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561



ทำไมทีมฟุตบอลเด็กไทยเก่ง..แต่โตขึ้นมาผลงานไม่ดี.!!

ภาพจาก www.thaibevthaitalent.com

                                  น่าแปลกใจที่พวกเรารู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานฟุตบอลชุดเด็กๆของไทย ที่ได้แชมป์และชนะทีมต่างๆได้ เมื่อเวลาผ่านไปเด็กเหล่านี้เติบโตและพัฒนาด้านฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง แต่กลับสร้างผลงานไม่ได้ตามเป้าหมาย มีศักยภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น คือควรจะเป็นทีมที่อยู่ในระดับแนวหน้าของเอเซีย....เมื่อผลงานออกมาไม่ดีก็จะมีข้อแก้ตัวต่างๆมาอ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างที่เล็กกว่าทีมอื่นๆ มีเวลาในการเตรียมทีมน้อย หรือสโมสรไม่ยอมปล่อยตัวนักกีฬามาร่วมทีม..เป็นต้น
                                  สาเหตุดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นเรื่องปลายเหตุ ความน่าจะเป็นของสาเหตุที่ทำให้เกิดความบกพร่องมีดังต่อไปนี้
                                  1. ทัศนคติและความคิดของผู้เกี่ยวข้องยังไม่เหมาะสมกับการพัฒนาการตามวัยของเด็ก
                                    2. แผนการพัฒนาไม่ถูกต้อง
                                    3. วิธีการฝึกซ้อมไม่เหมาะสม
                                    4. การสร้างขวัญและการให้กำลังใจมากเกินจริง
                                   1. ทัศนคติและแนวคิดไม่เหมาะกับการพัฒนาตามวัยของเด็ก...โดยธรรมชาติการพัฒนาการของเด็กด้านต่างๆจะเป็นไปตามระดับของช่วงอายุ  อย่างเช่นเด็กทารกจะไม่สามารถลุกขึ้นแล้ววิ่งได้ โดยธรรมชาติเด็กจะพัฒนาไปทีละขั้นจะเริ่มจากการคว่ำ คืบ คลาน ลุกขึ้นยืน เดิน แล้วจึงเริ่มวิ่งได้ ในทำนองเดียวกันเด็กแต่ละวัยจะมีขีดความสามารถที่แตกต่างกัน การรับรู้และการพัฒนาขีดความสามารถจะทำได้ตามวุฒิภาวะนั้นๆ หากใจร้อนฝืนกฏธรรมชาติแล้วพยายามพัฒนาแบบก้าวกระโดด เด็กก็จะมีสมรรถนะดีในระดับหนึ่งแต่จะมีจุดบกพร่องอีกหลายๆอย่าง ซึ่งในระยะยาวการพัฒนาการของเด็กเหล่านั้นในอนาคต จะมีขีดจำกัดและขาดความสมบูรณ์แบบ
                                2. แผนการพัฒนาไม่ถูกต้อง...เมื่อมีแนวคิดตามแบบข้อที่ 1 การวางแผนการฝึกกีฬาฟุตบอลให้เด็กก็จะเป็นแบบก้าวกระโดดเช่นกัน แผนพัฒนาจะไปเน้นที่การเล่นทีมและผลการแข่งขันมากกว่า
                                3. วิธีการฝึกซ้อมไม่เหมาะสม... เมื่อแผนการพัฒนาวางไว้แบบก้าวกระโดดวิธีการฝึกก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือจะพัฒนาทักษะการรับ-ส่ง โหม่ง เลี้ยง ยิงประตูในระดับที่พอทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงขั้นดีมาก ขาดความแม่นยำ แน่นอนและยังไม่มีความชำนาญมากพอ จึงไม่สามารถเอาตัวรอดในสภาวะกดดันสูงได้ แต่ไปเน้นที่การเล่นทีม ซึ่งการสร้างเสริมประสบการณ์จนเกิดความชำนาญจะต้องพัฒนาได้จากเกมสนามเล็กก่อน นอกจากจะพัฒนาทักษะให้ชำนาญเพิ่มขึ้นแล้ว  ยังเรียนรู้เทคนิกการเล่นเกมรุก-เกมรับไปที่ละขั้นตอนอีกด้วย โดยการฝึกแบบ  1:1,  3:3,  5:5,  7:7, 9:9,   เป็นต้น    เพราะการฝึกในสนามเล็ก เด็กแต่ละคนจะมีโอกาสได้สัมผัสกับการได้เล่นกับบอล และสถานการณ์การเล่นต่างๆบ่อยๆครั้ง เมื่อรู้ เข้าใจ สามารถเล่นได้ดีแล้วจึงค่อยก้าวไปสู่การเล่นทีม 11 คนต่อไป สิ่งที่พบในการฝึกที่เน้นผลการแข่งขันมาตั้งแต่แรกจะทำให้เด็กมีผลการแข่งขันที่ดีก่อนประเทศอื่นๆ เพราะเด็กประเทศอื่นยังไม่ได้เน้นการฝึกที่การเล่นทีมจึงทำให้มีประสบการณ์ในการเล่นทีมน้อยกว่า แต่พวกเขามีศักยภาพด้านทักษะต่างๆที่ชำนาญแม่นยำมากกว่า เมื่อถึงช่วงที่เขาได้ฝึกเทคนิคการเล่นทีมเขาจึงทำได้ดีมีความแน่นอนมากว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการเล่นจะมีน้อยกว่า การเล่นทีมจึงไม่เกิดปัญหาเช่นเดียวกับทีมไทยที่มักจะพบในเรื่องความผิดพลาดในการเล่นบ่อยๆ แล้วจึงนำมาเป็นข้ออ้างว่าเด็กเราทักษะไม่ดีเป็นต้น..
                               4. การสร้างขวัญและให้กำลังใจมากเกินไป...เมื่อพบเห็นว่าเด็กบางคนเล่นดี มีผู้เกี่ยวข้องหลายๆคนรวมทั้งสื่อต่างๆมักจะให้กำลังใจชื่นชมและเชียร์ ยกย่องว่ามีความเก่งกาจเลอเลิศเหนือกว่าเด็กคนอื่นๆในรุ่นราวคราวเดียวกัน เช่นชื่นชนว่าเล่นได้สุดยอดเก่งเหนือเด็กอื่น หรือแบบว่าเป็นโคตรบอลบ้างหรือให้ฉายาว่าเป็นระดับเทพบ้าง..จนทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเก่งเหนือกว่าคนอื่นๆ จึงมีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป อาจจะทำให้เด็กคนนั้นหลงและทะนงตนจนลืมไปว่า ความสามารถของตนเองนั้นที่เหนือกว่าเด็กอายุรุ่นเดียวกันนั้น ซึ่งเป็นเพียงภาพลวงตาไม่ใช่ความเป็นจริง เพราะความสามารถนั้นก็ยังไม่พร้อมสมบูรณ์แบบหรือมีความชำนาญในระดับหนึ่งเท่านั้น และยังมีความเก่งน้อยกว่ากลุ่มเด็กที่มีอายุที่สูงกว่าด้วย เหมือนเก่งใหญ่จะเหนือกว่าเก่งเล็กเป็นต้น นอกจากนั้นยังจะไม่ส่งแรงบรรดาลใจให้เด็กกลุ่มนี้พัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นเพราะมีความเชื่อว่าตนเองนั้นมีความเก่งหรือเหนือกว่าคนอี่นอยู่แล้ว และที่สำคัญเด็กเหล่านี้ได้รับการฝึกมาก่อนเด็กอีกหลายๆคนในกลุ่มอายุเดียวกัน จึงทำให้พวกเขามีความสามารถเหนือกว่าแบบชั่วคราว เพราะว่าเมื่อเด็กคนอื่นๆได้รับโอกาสฝึกซ้อมอย่างที่ถูกต้อง เขาอาจจะพัฒนาขีดวามสามารถได้เท่าเทียมหรือเล่นได้เหนือกว่าอีกด้วย
                                   สิ่งเหล่านี้จะเป็นมูลเหตุที่อาจจะชะลอการพัฒนาการด้านฟุตบอลของเด็กไทย ทำให้เด็กไทยมีศักยภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่หรือทีมชาติชุดใหญ่จึงทำให้ทำผลงานได้ไม่ดีอย่างที่เห็น....ดังนั้นเด็กนักฟุตบอลต้องปรับทัศนะคติใหม่ โดยให้คิดเสมอว่าเราต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีนักฟุตบอลคนอื่นเก่งเหนือเราอยู่อีก เช่น..เก่งในรุ่นอายุ 12 ปี ต้องพัฒนาให้มีศักยภาพสู้กับรุ่นอายุ 14 ปีให้ได้ แล้วต้องพัฒนาต่อเพื่อสู้ให้ได้ในรุ่นอายุ 16, 18, 20, ทีมชาติไทยชุดต่างๆ และทีมต่างชาติอื่นๆต่อไป ถ้าเด็กไทยคิดแบบนี้จะเป็นแรงจูงใจให้เด็กๆทุกคนต้องพยายามพัฒนาศักยภาพแข่งกัน ซึ่งสถานะการณ์แบบนี้ประเทศไทยจะมีนักฟุตบอลที่มีศักยภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากยิ่งขึ้น..เป็นต้น



วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561



ทำอย่างไรกองกลางจึงมีประสิทธิภาพ..?

ภาพจาก www.blog sbo bet.com

                                     อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่ากองกลางเป็นหัวในการเดินเกมของทีมในการแข่งขัน แต่บางครั้งก็ไม่สมารถทำได้อย่างที่ต้องการ ทั้งๆที่ฝึกผู้เล่นกองกลางให้สามารถเล่นตามเทคนิคการเล่นของกองกลางมาแล้วก็ตาม
                                       โดยปกติผู้เล่นกองกลางจะต้องครอบครองบอลไว้ให้อยู่ในทีม เปลี่ยนแกนการเล่นเพื่อแก้ไขสถานะการณ์ที่เสียเปรียบ หรือเพื่อสร้างโอกาสความได้เปรียบ และพยายามส่งบอลกดดันกองหลัง โดยทะลุผ่านช่องว่างแนวรับให้กองหน้าพร้อมสนับสนุนในการบุกทะลวงเข้าไปยิงประตู
                                     ปัญหา..คือ..การส่งบอลให้ผู้เล่นกองหน้าแบบไม่ได้เปรียบ ทำให้สร้างความกดดันกองหลังคู่ต่อสู้ไม่ได้เลย
                                     จุดสำคัญที่อาจจะถูกมองข้ามไป...โค้ชที่ดีจะต้องมีความละเอียดในการพิจารณาความสามารถของผู้เล่นกองกลางแต่ละคน..ว่าคนใดมีความสามารถเด่นที่ตรงไหน เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละคนจะมีสามารถดีไม่เท่ากัน..ดังนั้นโค้ชต้องเลือกที่จะมอบหมายบทบาทหน้าที่ในการเล่นให้ผู้เล่นกองกลางแต่ละคนอย่างเหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพในการเล่นที่ดีของกองกลาง
                                    องค์ประกอบที่ต้องใส่ใจ..มีดังนี้
                                   1. กองกลางตัวรับ
                                   2. กองกลางตัวไล่และพักบอล
                                   3. กองกลางตัวรุก 
                               1. ผู้เล่นกองกลางตัวรับ จะมีลักษณะการเล่นคล้ายกับตำแหน่ง Stopper ของกองหลัง แต่จะทำหน้าที่อยู่ด้านหน้าแแนวกองหลัง ซึ่งจะต้องมีความแข็งแกร่งดุดันช่วยเบรกหรือตัดเกมรุกของคู่ต่อสู้
                               2. ผู้เล่นกองกลางตัวไล่และพักบอล จะมีลักษณะเร็วแข็งแรงอดทน รับหน้าที่วิ่งไล่ล่า กดดันบีบพื้นที่เพื่อทำลายเกมและแย่งบอลจากกองกลางของคู่ต่อสู้ รวมถึงต้องสนับสนุนการเล่นโดยการช่วยพักบอลให้ผู้เล่นกองกลางตัวรุกให้มีโอกาสทำเกมรุกได้ง่ายที่สุด
                             3. ผู้เล่นกองกลางตัวรุก จะต้องมีลักษณะที่เป็นผู้นำ  มีความคิดสร้างสรรค์ ทักษะดีส่งบอล ทั้งระยะใกล้และระยะไกลได้แม่นยำ มีไหวพริบ พลิกแพลงเปลี่ยนแกนการเล่น เปลี่ยนเกมรับเป็นรุก และสามารถกำหนดเกมรุกโดยสร้างโอกาสได้ตามต้องการ และสามารถส่งบอลในลักษณะกดดันหรือบังคับ (Killer Pass) ได้อย่างสม่ำเสมอ
                              ถ้าโค้ชไม่พิจารณาให้รอบคอบและมอบหน้าที่ให้เหมาะสมกับผู้เล่นแต่ละคนแล้วอาจจะทำให้เกมการเล่นของทีมขาดประสิทธิภาพลงไป..เพราะผู้เล่นกองกลางทุกคนจะเชื่อมั่นในตัวเองว่าเป็นผู้เล่นกองกลางต้องส่งหรือจ่ายบอล แต่ต้องยอมรับซึ่งกันและกันว่าเรานั้นมีไหวปริบ มีเทคนิคและทักษะการจ่ายบอลที่แม่นยำสู้เพื่อนร่วมทีมไม่ได้ ดังนั้นจึงควรจะทำหน้าที่อย่างอื่นที่เหมาะสมจะดีกว่า ไม่ไปแย่งจ่ายบอลเอง ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสที่ดีไป แต่ถ้าไปลงเล่นในโอกาสอื่น แล้วพิจารณาเห็นว่าเพื่อนร่วมทีมคนอื่นมีศักยภาพไม่ดีกว่า เราจึงต้องรับหน้าที่นี้และต้องพยายามทำให้ดีที่สุด..เพื่อผลการแข่งขันที่ดีจะเกิดขึ้นต่อทีมต่อไป..

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561



แนวคิดการฝึกการเล่นกองกลาง

ภาพจาก www.siamsportonline.com

                                      กองกลาง..ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของทีม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกำหนดเกมการเล่นของทีมว่าจะไปทิศทางใด..เช่นจะเป็นเกมรุก หรือเกมรับ จะเน้นทางด้านซ้าย หรือทางด้านขวา รวมทั้งการเจาะทะลุผ่านแนวรับเข้าทำประตู
                                      แต่ในบางทีมจะประสบปัญหาที่ไม่สามารถกำหนดแนวทางการเล่นได้อย่างที่ต้องการ โค้ชจึงต้องดำเนินการพัฒนาให้นักกีฬามีความสามารถอย่างที่ต้องการ
                                    แนวคิดในการพัฒนาผู้เล่นกองกลาง...มีดังนี้
                                   1. สร้างความเข้าใจเทคนิคการเล่นกองกลาง
                                   2. ฝึกซ้อมเทคนิคการเล่นกองกลางแบบต่างๆ
                                   3. ฝึกซ้อมด้วยเกมจำลอง และเกมจริง
                                       การดำเนินการสามารถทำได้ดังนี้...
                                   1. การสร้างความเข้าใจเทคนิคการเล่นกองกลาง..
                                   1.1. ต้องพยายามควบคุมสถานะการณ์รักษาบอลไว้ในความครอบครอง
                                   1.2. ต้องเปลี่ยนแกนการเล่นไปยังพื้นที่ว่างทั้งด้านซ้ายหรือด้านขวา
                                   1.3. ต้องเปลี่ยนเกมการเล่นด้วยการวางบอลระยะไกลที่แม่นยำ
                                   1.4. ต้องส่งบอลทะลุผ่านช่องว่างของแนวรับให้กองหน้า
                                   1.5. ต้องสนับสนุนโดยเคลื่อนตัวเติมผ่านแนวรับขึ้นไปช่วยยิงประตู
                                   1.6. ต้องฝึกยิงบอลระยะไกลหรือจากพื้นที่แถวที่ 2 เมื่อเจาะไม่ผ่านแนวรับ

 ภาพที่ 1

                                    จากภาพที่ 1 ผู้เล่นกองกลางต้องเข้าใจเทคนิคการเล่นว่าจะต้องทำอย่างไร โดยพื้นฐานจะต้องรู้ว่า ต้องส่งบอลไปที่พื้นที่ใดบ้าง พื้นที่หลักจะต้องส่งไปทั้ง 5 พื้นที่ คือส่งบอลเปลี่ยนแกนสลับ ซ้าย-ขวา ในพื้นที่ที่ 1 และ 2 หรือส่งบอลทะลุผ่านช่องว่างไปทางด้านหน้าสู่พื้นที่ที่ 3  และ 5 หรือส่งบอลระยะไกลข้ามแนวรับสู่พื้นที่ที่ 4 เป็นต้น

                                 2. ฝึกซ้อมเทคนิคการเล่นกองกลางแบบต่างๆ..
                                   2.1. ฝึกการครอบครองบอลในแดนกลาง

 ภาพที่ 2

                                 จากภาพที่ 2 ฝึกการครองบอลและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกแบบ 2:2 หรือ 3:3 ในพื้นที่่ 20X30 หลา และมีผู้เล่นช่วยสนับสนุนอยู่ด้านนอกอีก 4 คน คอยช่วยพักบอลให้ฝ่ายที่ได้ครอบครองบอลอยู่ 

                                     2.2. ฝึกการเปลี่ยนแกนการเล่นไปพื้นที่ว่างด้านซ้าย-ขวา
                                   2.3. ฝึกการเปลี่ยนเกมด้วยการส่งบอลระยะไกลที่แม่นยำ

 ภาพที่ 3

                                  จากภาพที่ 3 ฝึกแบบ 2:3 ในพื้นที่ 10X20 หลา ฝึกการครองบอลในพื้นที่สีเหลือง แล้วเปลี่ยนแกนการเล่นไปด้านซ้าย-ขวาไปพื้นที่ที่ 1และ 2 หรือส่งบอลระยะไกลแนวทะแยงไปยังพื้นที่ที่ 3 และ 4 (ถ้าส่งไปสู่เป้าหมายด้านซ้าย-ขวาจะได้ครั้งละ 1 คะแนน แต่ถ้าส่งระยะไกลสู่เป้าหมายได้จะได้คะแนนครั้งละ 2 คะแนน)

                                   2.4. ฝึกการส่งบอลทะลุผ่านแนวรับให้กองหน้า

 ภาพที่ 4

                                 จากภาพที่ 4 การฝึกต่อเนื่องจากภาพที่ 3 (เมื่อฝึกชำนาญแล้ว) ขยายพื้นที่รวมกับพื้นที่สีเขียว และเพิ่มเงื่อนไข ถ้าฝ่ายสีแดงสามารถพาบอลผ่านเข้าไปอยู่ในพื้นที่สีเขียวได้จึงมีสิทธิ์ส่งบอลไปยังพื้นที่ที่ 3, 4,และ 5 จะได้คะแนนเพิ่มครั้งละ 2 คะแนนเป็นต้น
                                   2.5. ฝึกการสนับสนุนโดยเคลื่อนตัวเติมผ่านแนวรับขึ้นไปยิงประตู

 ภาพที่ 5

                                 จากภาพที่ 5 ฝ่ายสีแดงเพิ่มตัวช่วยอีก 1 คนอยู่ในพื้นที่ที่ 5 โดยกำหนดเงื่อนไขต้องรอรับบอลที่ส่งมาจากพื้นที่สีเขียวแล้วทำชิ่งบอลให้ผู้เล่นที่ส่งมาให้นั้นทะลุผ่านขึ้นไปยิงประตู
                                   2.6. ฝึกการยิงบอลระยะไกล จากพื้นที่แถว 2

 ภาพที่ 6

                                  จากภาพที่ 6 การฝึกคล้ายกับการฝึกในภาพที่ 5 แต่กำหนดเงื่อนไขใหม่ โดยเมื่อผู้เล่นที่เป็นตัวช่วยที่อยู่ที่พื้นที่ 5 ได้รับบอลจากการส่งมาให้แล้วส่งบอลย้อนกลับลงมาให้ผู้เล่นกองกลางสีแดงอีกคนหนึ่งที่วิ่งเติมขึ้นมายิงประตูระยะไกลจากแถวที่ 2 เป็นต้น

                                 3. ฝึกการเล่นกองกลางด้วยเกมจำลอง และเกมจริง

ภาพที่ 7

                                 จากภาพที่ 7 เป็นเกมรุก 5:3 โดยจะฝึกการเล่นของกองกลางในพื้นที่สีเหลืองแบบ 2:1 ผู้เล่นฝ่ายรุกต้องนำเทคนิกการเล่นของกองกลางมาใช้  เพื่อหาโอกาสส่งบอลให้ผู้เล่นแดนหน้าทำเกมเข้าไปยิงประตู


ภาพที่ 8

                                จากภาพที่ 8 เมื่อผู้เล่นมีความเข้าใจเทคนิคการเล่นกองกลางดีขึ้น จึงเติมผู้เล่นกองกลางฝ่ายรับอีก 1 คน เพื่อฝึกให้ฝ่ายรุกรู้จักการแก้ไขปัญหา ถ้าเกมไม่ลื่นไหล โค้ชต้องสั่งให้หยุดแล้วแนะนำว่า จะต้องทำอย่างไรจึงเกิดความได้เปรียบในเกมการเล่นนั้น

ภาพที่ 9

ภาพที่ 10

                                 จากภาพที่ 9 และ 10 เป็นการเพิ่มผู้เล่นให้เท่าๆกัน เป็น 5:5 และ 6:6 เพิ่อสร้างเกมจำลองให้คล้ายเกมการเล่นจริงมากขึ้น ผู้เล่นจะต้องฝึกเทคนิคการเล่นกองกลางให้ชำนาญมากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์การเล่นระหว่างผู้เล่นกองกลาง และกองหน้า ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย สุดท้ายจึงจัดการฝึกเป็นเกมจริง 11:11 ต่อไป
                                ตัวอย่างดังกล่าวเป็นแนวคิดพื้นฐานการฝึกผู้เล่นกองกลาง ซึ่งโค้ชต้องจัดแบบฝึกเพื่อพัฒนาการเล่นให้เหมาะสมกับสภาพของนักกีฬาที่มีอยู่  และเพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่กำหนดได้อย่างที่ต้องการ
                               

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561



ป้องกันอย่างไรให้เสียเปรียบน้อยทีสุด


                                   โค้ชหลายท่านมักจะประสบปัญหาในเกมรับทำให้มีผลการแข่งขันออกมาไม่ดี ทั้งๆที่ได้ว่างรูปแบบและจัดตัวผู้เล่นไว้อย่างดีแล้ว.?
                                  โอกาสที่เป็นเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โค้ชควรจะทบทวนว่าน่าจะเกิดขึ้นมาจากจุดใด ทั้งๆที่มีผู้เล่นในเกมรับมากกว่าอยู่แล้ว  สาเหตุพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความบกพร่องจะมีดังนี้........
                                1. ระยะการยืนป้องกันไม่เหมาะสม  แนวรับของกองกลางมักจะถอยลงมาช่วยตั้งรับ แต่มาใกล้ชิดหรือทับแนวกองหลังมากเกินไป พื้นที่ด้านหน้าแนวรับจะเปิดเป็นพื้นที่ว่าง ทำให้ฝ่ายรุกสามารถครองเกมและมีเวลามากพอที่จะรอจังหวะและหาโอกาสที่ดีสร้างเกมรุกเข้าทำประตูได้หลากหลายวิธี ฝ่ายรับจะไม่ชัดเจนในการประกบตัว ทำให้มีการเกี่ยงกันเข้าแย่งตัดบอล ระบบและจังหวะการป้องกันจะเสียไป
                                2. การประกบตัวไม่ประชิด ยืนประกบตัวห่างเกินไปทำให้ไม่สามารถติดตามการเคลื่อนที่ของผู้เล่นคู่ต่อสู้ได้ทันเหตุการณ์
                                3. ผู้เล่นไม่ปฏิบัติตามหลักการและเทคนิคการป้องกันอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ เช่น..เมื่อเป็นฝ่ายรับ คนที่อยู่ใกล้บอลให้รีบเข้าไปชะลอเกมรุกให้ช้าลง  ผู้เล่นอื่นต้องสร้างความสมดุลลงมาช่วยประกบคู่ต่อสู้ที่อยู่ใกล้ อ่านเกมพร้อมติดตามการเคลื่อนที่สร้างเกมรุกของคู่ต่อสู้ และพยายามควบคุมสถานะการณ์เพื่อสร้างความได้เปรียบเบียดแย่งชิงตัดบอลจากคู่ต่อสู้
                                4. การประกบตัว ต้องยืนในจุดที่ได้เปรียบเพื่อปิดโอกาสการเล่นของคู่ต่อสู้ให้มากที่สุด หรือเมื่อคู่ต่อสู้ครอบครองบอลอยู่ ต้องยืนปิดมุมเพื่อให้เล่นได้ทางเดียวและไม่ให้ส่งบอลหรือเลี้ยงบอลทะลุผ่านไปโดยง่าย
                                5. การแย่งบอล เมื่อยืนในจุดที่ได้เปรียบ จะสามารถอ่านเกมแล้วชิงตัดบอลได้ก่อน หรือถ้าคู่ต่อสู้ครองบอลได้ ให้บังคับให้เล่นทางเดียวหรือบีบให้เล่นในพื้นที่ปิด กดดันไล่แย่งชิงตัดบอล
                                6. ต้องจัดระบบการสอดซ้อนช่วยเหลือกัน และต้องสร้างความสัมพันธ์หมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อให้เกิดแนวรับเสริมขึ้นใหม่เพิ่มเติมขึ้นอีก
                                7. ต้องรักษาสมาธิ สามารถควบคุมอารมณ์ และกระตุ้นตัวเองให้พร้อมรับสถานะการณ์ที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา 
                                8. ต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ตลอดเวลาการแข่งขัน
                                    สาเหตูต่างๆที่ได้กล่าวไปนั้น โค้ชลองนำไปพิจารณาว่างผู้เล่นในทีมยังขาดสิ่งใดไปบ้าง หมั่นฝึกซ้อมให้เกิดความชำนาญ ทีมก็จะมีเกมรับที่แข็งแกร่งได้มากยิ่งขึ้น....

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561



การพัฒนาเกมรับด้วยเกมสนามเล็ก

                                   โค้ชมักจะพบสภาพปัญหา ที่นักฟุตบอลเสียสมาธิและขาดวินัยในเกมรับจึงทำให้สถานะการณ์ของทีมเสียเปรียบคู่ต่อสู้ แนวทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาความรู้ความเข้าใจและศักยภาพให้กับนักฟุตบอลได้ดีขึ้นโดยใช้ การฝึกด้วยเกมสนามเล็ก..ตัวอย่างเช่น..
  
 ภาพที่ 1

                                 จากภาพที่ 1 การฝึกด้วยการเล่น 3:3 ในขนาดสนาม 20x40 หลา ประตู 2 ประตู ลูกบอล 6 ใบ
                                 เริ่มการฝึก ฝ่ายแดงหมายเลข 9 พาบอลบุกเพื่อไปยิงประตู ส่วนผู้เล่นสีน้ำเงินหมายเลข 5 จะเป็นฝ่ายรับต้องพยายามป้องกันไม่ให้ฝ่ายสีแดงยิงประตูได้

 ภาพที่ 2

                                   จากภาพที่ 2 สถานะการณ์ต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายรุกสีแดงยิงประตูได้ หรือฝ่ายรับสีน้ำเงินแย่งตัดบอลกลับคืนมาได้ ให้เปิดเกมรุกกลับไป และให้เพิ่มผู้เล่นหมายเลข 4 เข้าไป ผู้เล่นสีแดงหมายเลข 9 ต้องรีบถอยกลับลงมาป้องกันทันที และต้องใช้เทคนิคการป้องกันแบบ 1:2 ในการป้องกันการยิงประตู

 ภาพที่ 3

                                  จากภาพที่ 3 สถานะการณ์ต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายรุกสีน้ำเงินยิงประตู หรือฝ่ายรับสีแดงแย่งตัดบอลได้ ให้เปิดเกมรับกลับไปพร้อมเพิ่มผู้เล่นอีก 2 คนคือหมายเลข 8 และหมายเลข 10 สีน้ำเงินจะกลับมาเป็นฝ่ายรับต้องรีบถอยกลับลงมาป้องกันทันที และต้องใช้เทคนิคการป้องกันแบบ 2:3 ในการป้องกันประตู
                                 ถ้าฝ่ายรุกสีแดงยิงประตูได้ หรือฝ่ายรับสีน้ำเงินแย่งบอลได้ให้เปิดเกมรุกกลับไปและเติมผู้เล่นหมายเลข 3 เข้าไป ฝ่ายสีแดงต้องรีบถอยกลับลงมาป้องกันโดยใช้เทคนิคการเล่นเกมรับแบบ 3:3........เมื่อเกมจบให้เริ่มต้นฝึกใหม่ เน้นสลับผู้เล่นในชุดต่างๆเพื่อให้ผู้เล่นได้พัฒนาเทคนิคการป้องกันในแบบต่างๆเพื่อให้เกิดความชำนาญ ทำให้เล่นกันได้อย่างสัมพันธ์กันดี และสามารถทำได้อย่างอัตโนมัติ ประสิทธิภาพในการเล่นเกมรับจะพัฒนาได้แน่นอน....    

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561



ฝึกการสร้างสัญชาตญาณเกมรับ

                                     โดยปกติเด็กและยาวชนที่เล่นฟุตบอลจะชื่นชอบในการเล่นเกมรุกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นความสนุกและท้าทาย ในทางกลับกันพวกเขาเหล่านั้นมักจะไม่ค่อยชอบเล่นเกมรับเลย สิ่งนี้จะเป็นปัญหาเรื้อรังที่จะติดตัวพวกเขาต่อไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะเมื่อเขาเล่นในเกมฟุตบอล นักฟุตบอลเหล่านี้จะสนุกกับการเติมขึ้นไปเล่นเกมรุกอย่างมาก แต่เมื่อเสียการครอบครองบอลไปเขามักจะเดิน และไม่กระตือรือร้นที่จะรีบถอยกลับลงมาประกบตัวเล่นเกมป้องกัน หรือไล่แย่งบอลกลับคืนมาทันที
                                   ดังนั้นโค้ชจึงต้องเตรียมการแก้ไขและพัฒนาตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เพื่อให้นักกีฬาเหล่านั้นมีความพร้อม มีสัญชาตญาณและมีสมาธิ สามารถเล่นได้ตามบทบาทหน้าที่การเล่นเกมรับได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถพัฒนาได้จากเกมการฝึกซ้อม...
                                  1.ฝึกการรุกแล้วถอยกลับลงมาเตรียมป้องกัน

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2

                                จากภาพที่ 1 และ 2 เป็นสถานการณ์ที่ผู้เล่นหมายเลข 8 และหมายเลข 9 ฝึกเกมการเข้าทำประตู 


ภาพที่ 3

                                 จากภาพที่ 3 จะเป็นสถานะการณ์ต่อเนื่องจากการจบด้วยการยิงประตู ซึ่งผลจะเข้าหรือไม่เข้าก็ตาม การฝึกบทบาทหน้าที่และสร้างสัญชาตญาณของการป้องกัน คือผู้เล่นทั้ง 2 คนนั้นจะต้องรีบวิ่งกลับลงมาให้ผ่านเส้นเริ่มต้นให้เร็วที่สุด เพื่อฝึกไม่ให้ผู้เล่นยืนค้างอยู่ในแดนหน้า แล้วปล่อยให้กองกลาง และกองหลังทำหน้าที่ป้องกัน กันเอง...แต่ถ้าโค้ชต้องการสร้างวินัยหรือฝึกอย่างเข้มข้นอาจจะใช้ระยะเวลาเป็นตัวกำหนดในการวิ่งกลับมาเข้าสู่แดนตัวเอง.. เช่นต้องกลับมาให้ทันระหว่างช่วงเวลาที่โค้ชจะนับเลขจาก 1-10
                                     2. ฝึกเกมรับ 3:3 ในสนามเล็ก 

ภาพที่ 4

                                      จากภาพที่ 4 เป็นการฝึกด้วยเกมสนามเล็ก 3:3 ผู้เล่นฝ่ายสีแดงกำลังเปิดเกมรุก 

ภาพที่ 5

                                 จากภาพที่ 5 เมื่อฝ่ายสีน้ำเงินตัดแย่งบอลได้ แและกำลังเปิดเกมรุกกลับมาโดยส่งบอลมาให้ผู้เล่นหมายเลข 6  ดังนั้นผู้เล่นสีแดงหมายเลข 8 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งด้านหลังสุดที่คอยสนับสนุนการเล่นของผู้เล่นด้านหน้าทั้งหมายเลข 9 และหมายเลข 10 นั้น เห็นว่าฝ่ายสีน้ำเงินบุกทะลุผ่านแนวรับด้านหน้ามา ต้องรีบเคลื่อนที่ออกมาประชิดเพื่อหน่วงเหนี่ยวให้เกมรุกของฝ่ายสีน้ำเงินรุกคืบหน้าได้ช้าลง จึงทำให้มีเวลาปรับความสมดุลของเกมรับ โดยหมายเลข 9 ต้องถอยติดตามประกบหมายเลข 4 และหมายเลข 10 จะเคลื่อนไปประกบหมายเลข 5 ทันที  

 ภาพที่ 6

                                จากภาพที่ 6 ในสถานะการณ์ต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายแดงสามารถชะลอเกมรุกของฝ่ายสีน้ำเงินได้แล้ว จึงขยับตำแหน่งปรับรูปทรงของทีมในเกมรับให้เหมาะสม เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่ดีในสถานะการณ์ที่สามารถคุมได้ทั้งคนและพื้นที่ โดยฝ่ายแดงหมายเลข 9 จะขยับลงมาเป็นตัวสุดท้ายเพื่อคอยสอดซ้อนช่วยเหลือผู้เล่นหมายเลข 8 และหมายเลข 10 ที่คุมและตามประกบคู่ต่อสู้อยู่ทำให้แนวรับเหนียวแน่นยิ่งขึ้น..
                               จะเห็นได้ว่าการฝึกด้วยเกมสนามเล็กจะสร้างความเข้าใจในบทบาทความรับผิดชอบ สร้างวินัยในการป้องกัน เมื่อเสียการครอบครองบอลไป ซึ่งทุกคนต้องรีบถอย กลับมาตั้งรับ หมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกบตัวคู่ต่อสู้เพื่อเล่นเกมป้องกันทันที.....สัญชาตญาณการเล่นเกมรับทีดีนี้จะติดตัวนักฟุตบอลแต่ละคนตลอดไป..

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561



แนวทางการฝึกเพื่อสร้างรูปทรงของทีม

ภาพจาก www.proja.ir
                                     
                                    ทำอย่างไรจึงจะสร้างให้ผู้เล่นรักษารูปทรงของทีมได้อย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่โค้ชต้องคิดรูปแบบการฝึกซ้อมแบบพื้นฐานได้ดังนี้...

                                   1.โค้ชต้องกำหนดระบบการเล่นของทีม

ภาพที่ 1

                                    จากภาพที่ 1. โค้ชต้องพิจารณาว่าทีมของตัวเองนั้นควรจะเล่นในระบบรูปแบบใด เช่นเมื่อโค้ชกำหนดระบบการเล่นของทีมเป็นแบบ 4:4:2 ดังนั้นต้องจัดผู้เล่นลงในกลุ่มกองหลัง กองกลาง และกองหน้า ตามแบบและเป็นรูปทรงของทีมที่กำหนด

                                    2.สร้างความเข้าใจสถานะการณ์เกมที่กำหนด
 
ภาพที่ 2
                                    จากภาพที่ 2 โค้ชต้องสร้างความเข้าใจสถานะการณ์ตามเกมเกมที่กำหนด เช่นการเปิดเกมรุกทางด้านขวา เบ็คขวาเปิดบอลให้ปีกขวาหมายเลข 7  กองหน้าหมายเลข 9 เคลื่อนที่ออกไปรับบอลด้านข้างจากปีกขวา ทำให้ผู้เล่นกองหน้าที่ต้องทำหน้าที่กดดันบริเวณหน้าเขตโทษและเพื่อหาโอกาสยิงประตูจะเหลือหมายเลข 10 เพียงคนเดียว ดังนั้นกองกลางหมายเลข 6 ต้องเติมเกมรุกขึ้นไป ทำให้รูปทรงของทีมเปลี่ยนไปเป็น 4:3:3
                                3.เน้นการเคลื่อนที่เติมพื้นที่ว่าง

ภาพที่ 3

ภาพที่ 4

                                   จากภาพที่ 3 สถานะการณ์เกมรุกควรเล่นให้เต็มพื้นที่ ดังนั้นผู้เล่นต้องเคลื่อนที่เติมเต็มในพื้นที่ว่าง โดยผู้เล่นปีกซ้ายหมายเลข 11 เคลื่อนที่เติมขึ้นไปสู่พื้นที่ว่างแดนหน้าด้านซ้าย กองหน้าจะมีผู้เล่นเต็มพื้นที่ 4 คน ส่วนกองกลาง และกองหลังต้องขยับเคลื่อนตามขึ้นมา รูปทรงของทีมจะปรับเป็น 4:2:4 
                                  จากภาพที่ 4 ในบางโอกาสเมื่อต้องการกดดันเปิดเกมรุกให้เต็มพิกัด จะเห็นได้ว่ากองกลางหมายเลข 8 จะเคลื่อนขยายแนวออกมาประคองทางด้านซีกซ้ายมากขึ้น ส่วนหมายเลข 7 จะคอยประคองอยู่ที่พื้นที่ด้านขวา พื้นที่บริเวณตรงกลางจะเปิดกว้างทำให้ผู้เล่นกองกลาง 2 คนทำหน้าที่ได้ลำบากไม่ครอบคลุมพื้นที่อย่างที่ต้องการ ดังนั้นกองหลังหมายเลข 4 เคลื่อนตัวขึ้นไปเติมยังพื้นที่ว่างนั้น รูปทรงของทีมจะปรับเป็น 3:3:4 เป็นต้น
                                 4.เกมเปลี่ยนต้องถอยลงมาตั้งรับ/สลับตำแหน่ง
                           
ภาพที่ 5

ภาพที่ 6

                                  จากภาพที่ 5 เมื่อเสียการครอบครองบอลไป ต้องปรับเป็นเกมรับทันที เช่นคู่ต่อสู้บุกโจมตีกลับมาทางด้านแบ็คขวาของทีมเรา ตามหลักของเกมรับผู้เล่นที่อยู่ใกล้คู่ต่อสู้ที่มีบอล ต้องเคลื่อนตัวเข้าไปขวางเพื่อชะลอให้คู่ต่อสู้บุกทะลวงได้ช้าลง และให้ผู้เล่นคนอื่นรีบเคลื่อนที่ถอยกลับลงมาช่วยป้องกันในเกมรับ ซึ่งอาจจะต้องหมุนเวียนแทนตำแหน่งกันมาป้องกัน เช่นผู้เล่นหมายเล่น 2 และผู้เล่นหมายเลข 4 เคลื่อนที่เข้าไปประชิดเพื่อชะลอเกมของคู่ต่อสู้ ทำให้หมายเลข 4 ถอยลงไปเข้าแนวป้องกันของกองหลัง และผู้เล่นหมายเลข 6 ถอยกลับลงมาเข่าสู่แนวป้องกันของกองกลาง รูปทรงของทีมจะปรับในระยะแรกเป็น 4:3:3 
                                 จากภาพที่ 6 เมื่อเกมรับอยู่ทางด้านขวา ผู้เล่นจะขยับเทตามไปทางด้านซีกขวามากขึ้น ผู้เล่นหมายเลข 11 ก็จะต้องรีบถอยลงมาช่วยขุมกำลังกองกลางและคอยควบคุมสถานะการณ์ในพื้นที่ด้านซ้าย และปรับรูปทรงของทีมเป็น 4:4:2 เข้าสู่ระบบเดิมได้ทันที
                              สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง..ผู้เล่นทุกตำแหน่งต้องเข้าใจหลักการเล่น และต้องมีวินัยอย่างมากที่จะรักษารูปทรงของทีมให้สมดุลย์ไว้เสมอ    ดังนั้นขุมกำลังทั้งกองหน้า  กองกลาง และกองหลังต้องปรับตำแหน่งให้ครบเพื่อคุมพื้นที่ในแต่ละแดน และต้องรักษาระยะของขุมกำลังให้เหมาะสมไม่ห่าง หรือใกล้ชิดกันเกินไปเพราะจะทำให้รูปทรงของทีมเสียไป ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในทีมช่วยสนับสนุนการเล่นทั้งเกมรุก-เกมรับซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถรักษารูปทรงของทีมไว้ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเกม ไม่เปิดพื้นที่ว่างให้คู่ต่อสู้บุกเข้าโจมตีได้โดยง่าย....
                                

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561



พื้นฐานการสร้างรูปทรงของทีม

 ภาพจาก www.bugaboo.tv

                                      เรามักจะพบว่าทีมที่แข่งขันอยู่นั้น บางช่วงเวลารูปทรงของทีมเสียไป ผู้เล่นในตำแหน่ง กองหน้า กองกลาง หรือกองหลังไม่สามารถรักษาตำแหน่งและพื้นที่ในแต่ละขุมกำลังไว้ได้สม่ำเสมอ บางครั้งมีการขาดหายไปเป็นช่วงๆ หรือเป็นระยะๆ ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนให้คู่ต่อสู้บุกเข้ามายึดและสร้างความได้เปรียบในเกมการเล่นได้มากกว่า
                                       โค้ช..ควรทำอย่างไร.? วิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ได้ น่าจะเป็นแนวทางดังนี้
                                  1. โค้ชต้องกำหนดระบบการเล่นของทีมไว้ชัดเจน เช่นเกมรับใช้ระบบอะไรผู้เล่นจะยืนประจำตำแหน่งอย่างไร เมื่อเปลี่ยนเป็นเกมรุกจะปรับเป็นระบบอะไรผู้เล่นจะเคลื่อนตำแหน่งกันอย่างไร
                                  2. โค้ชต้องทำให้ผู้เล่นเกิดความรู้และเข้าใจในระบบการเล่นนั้น
                                  3. โค้ชต้องฝึกให้ผู้เล่น สามารถเล่นในระบบการเล่นนั้นได้
                                  4. โค้ชต้องฝึกผู้เล่น ให้สามารถเล่นในสถานะการณ์ต่างๆ ทั้งรุกและรับ ได้อย่างถูกต้องสัมพันธ์กัน
                                    ถ้าสามารถฝึกได้ตามนี้ ผู้เล่นทุกตำแหน่งจะสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่ง ทั้งสนับสนุนเติมเกมรุก และเคลื่อนตัวถอยกับลงมาช่วยเกมรับ ทำให้ผู้เล่นกองหน้า กองกลางและกองหลัง มีผู้เล่นครบไม่ขาดหายไป ในภาพรวมรูปทรงของทีมจะมีผู้เล่นเต็มทุกขุมกำลังในทุกพื้นที่ จะทำให้ทีมมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น................ส่วนแนวทางการฝึกจะนำเสนอในครั้งต่อไป.....

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561



แนวคิดที่จะพัฒนาทีมชาติให้แกร่งยิ่งขึ้น

ภาพจาก www.sportinter.com
                                   ด้วยเหตุที่ทีมฟุตบอลชายไทยชุดเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ทำผลงานได้ไม่ดีในการแข่งขัน อันที่จริงการใช้นักกีฬาที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ และไม่ใช้นักกีฬาที่มีอายุเกินตามโควต้าที่กำหนดนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดี ถ้าในสถานการณ์กลับกัน หากทีมนี้ทำผลงานได้ดีชนะเข้ารอบลึกหรือได้รางวัลขึ้นมา ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น ทุกอย่างจะดีไปหมด
                                  การใช้ผู้เล่นอายุน้อยไปร่วมแข่งขันในรายการใหญ่แบบนี้ มีบางประเทศดำเนินการทำอยู่ เช่น..ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งทีมชุดที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ไปเข้าร่วมการแข่งขันซึ่งผลงานออกมาในระดับที่น่าพอใจและนักกีฬาเหล่านั้นจะมีประสบการณ์ มีความมั่นใจและมีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น ส่วนประเทศเยอรมันนี เคยใช้วิธีการนี้เช่นกัน..สมัยนั้น ฟรานซ์ เบคเคนบราว์  ได้รับหน้าที่เฮดโค้ชเพื่อเตรียมทีมแข่งฟุตบอลโลก โดยมีเวลา 4 ปี เขากำหนดระบบการเล่นไว้ชัดเจน และขอให้สมาคมฟุตบอลของเยอรมัน ประสานให้ทุกสโมสรปรับระบบการเล่นในแบบที่เขาต้องการ แล้วเขาออกไปคัดเลือกตัวผู้เล่นที่ดีและมีอายุไม่เกิน 23 ปี สามารถเล่นได้ตามตำแหน่งและระบบที่ต้องการเข้ามาทำการฝึกซ้อมและเล่นร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปีที่ 2 ได้ส่งทีมเข้าแข่งขันในรายการชิงแชมป์ยุโรป ผลปรากฏว่าได้ตำแหน่งรองแชมป์ จากนั้นทีมชุดนี้ได้ปรับจุดบกพร่องพัฒนาจุเด่นอย่างต่อเนื่องแล้วเข้าแข่งในรายการฟุตบอลโลก และผลก็คือชนะเลิศได้แชมป์โลกไป...แต่การที่ผลสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้นั้นไม่ใช่ว่าโชคช่วย แต่เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันทั้งระบบตั้งแต่การบริหารจัดการทั้งระบบ มีแผนพัฒนา มีการลงมือปฏิบัติที่ชัดเจนและเหมาะสมเป็นต้น..
                                แนวคิดเพื่อพัฒนานักกีฬาระดับทีมชาติให้แข็งแกร่ง...
                               1.ด้านการบริหาร ผู้บริหารสมาคมฟุตบอลฯต้องวางแผนพัฒนาทั้งระบบ โดย ศึกษาแนวทางการพัฒนากีฬาฟุตบอลของประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วนำมาประยุกต์ปรับให้เหมาะกับสภาพของทีมไทยแล้วน่าจะเกิดผลที่ดีได้..อย่างเช่น
                               1.1.วางกรอบนโยบาย..กำหนดระบบ รูปแบบและสไตล์การเล่นหลักไว้
                               1.2.สรรหาโค้ชที่มีความสามารถ เข้ามารับนโยบายและพัฒนานักกีฬาเยาวชนไปในแนวทางที่กำหนดในแบบเดียวกัน
                               1.3.ปูพื้นฐานให้เยาวชนระดับรากหญ้า แล้วคัดกรองเยาวชนที่มีความสามารถดีตามเกณฑ์เข้าสู่ ศูนย์พัฒนาฟุตบอลของสมาคมฯประจำภาค 4-5 ภาค ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศ
                               1.4.คัดเลือกเยาวชนในศูนย์ฯ มาจัดเรียงลำดับความสามารถในแต่ละระดับอายุ ซึ่งในแต่ละตำแหน่งจะมีนักกีฬาที่มีความสามารถดี เล่นได้ในระบบ สไตล์และรูปแบบเดียวกัน ที่เรียงลำดับความสามารถจำนวน 8-10 คน ไว้ให้โค้ชทีมชาติเลือกใช้
                               1.5.สมาคมฯสามารถตัดสิ้นใจเลือกใช้นักกีฬาในแด่ละชุด ไปร่วมแข่งขันในรายการต่างๆตามความเหมาะสม เพื่อพัฒนาด้านประสบการณ์และเป็นตัวเลือกที่ดีได้ในอนาคต
                              2.ด้านฝ่ายเทคนิค ประธานฝ่ายเทคนิคต้องศึกษาองค์ประกอบต่างๆ แล้วจัดระบบแนวคิดในการพัฒนาเยาวชนในรูปแบบที่เหมาะสมไว้
                               2.1.ศึกษาระบบ หารูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพคนไทยมากที่สุด
                               2.2.กำหนดแผนงาน โครงสร้างระบบ รูปแบบและวิธีการเล่นไว้ชัดเจน
                               2.3.สรรหาโค้ชที่มีความรู้ ความสามารถมารับนโยบายแล้วนำไปดำเนินการฝึก
                               2.4.กำหนดแผนกำกับติดตาม และประเมินการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
                               2.5.วางแผนส่งนักกีฬาแต่ละชุดเข้าร่วมแข่งขันในรายการต่างๆเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์
                               2.6.ตั้งเป้าหมายความสำเร็จที่เป็นไปได้ที่ละระดับขั้น เช่นยกมาตรฐานทีมขึ้นไปให้ได้แชมป์ในรายการเอเชี่ยนเกมส์หรือ แชมป์เอเซียไว้ชัดเจนก่อนที่จะฝันไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ไม่ควรตั้งเป้าหมายไว้ไกลเกินความเป็นไปได้จริง
                              3.ด้านระยะเวลาการเตรียมทีม สมาคมฯต้องวางแผนการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีก ให้เหมาะสมเอื้อต่อการเตรียมทีมชาติไว้ด้วย
                               3.1.โดยปกติแผนการพัฒนาเยาวชนของสามาคมฯ นักกีฬาจะฝึกซ้อมร่วมกันมารู้และเข้าใจระบบ รูปแบบและแทคติกการเล่นในแบบเดียวกันอยู่แล้ว น่าจะไม่ยากต่อการเตรียมทีมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ของผู้เล่นและระบบทีม เมื่อมีเวลารวมตัวในระยะสั้นๆ
                               3.2.วางโปรแกรมการแข่งขันให้เหมาะสม ไม่จัดการแข่งขันช่วงกลางสัปดาห์ถ้าไม่จำเป็น
                               3.3.วางแผนการฝึกซ้อมเป็นระยะๆ สัปดาห์ละ 1-3 วันประมาณในช่วง 2 เดือนก่อนการเก็บตัวก่อนไปแข่งขัน
                               3.4.กำหนดระยะเวลาการเก็บตัวฝึกซ้อมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนแข่งเพื่อผลการแข่งขันที่ดี เพราะจะมีผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติยศ และการจัดอันดับโลกอีกด้วย
                               3.5.ควรจะประสานความร่วมมือ เน้นให้เห็นความสำคัญเพราะเป็นงานของชาติแล้วกำหนดระเบียบไว้ให้ถือปฏิบัติร่วมกัน โดยสโมสรสมาชิก ต้องอนุญาตให้นักกีฬามาฝึกซ้อมตามโปรแกรมที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
                             4.ด้านศักยภาพของนักกีฬา นักกีฬาแต่ละกลุ่มอายุที่ผ่านระบบการพัฒนาจากศูนย์ฝึกของสมาคมฯจะมีจำนวนมากพอและมีความสามารถดีตามมาตรฐานสากล
                               4.1.นักกีฬาที่คัดกรอง เข้ามาฝึกในศูนย์ฝึกของสามคมฯประจำภาคต่างๆทั่วประเทศ จะได้รับการพัฒนาในระบบ รูปแบบเดียวกัน
                               4.2.จัดลำดับความสามารถของนักกัฬาในแต่ละตำแหน่งไว้ เพื่อพิจารณาเลือกใช้ในการแข่งขันแต่ละรายการ
                               4.3.นักกีฬาจะพยายามพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อแข่งขันด้านความสามารถกันซึ่งเป็นผลดี ที่จะได้มีนักกีฬาที่มีความสามารถสูงขึ้น และโค้ชจะมีตัวเลือกที่ดีเพิ่มมากขึ้น
                             5.ด้านผู้ฝึกสอน โค้ชควรเตรียมทีมงานที่มีความสามารถจริงๆไว้ให้พร้อม มิใช่นำพรรคพวกเข้ามาทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานไม่ดีพอ
                               5.1.ต้องสามารถสรรหานักกีฬาที่มีความสามารถที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้นมาร่วมทีม เพื่อทีมจะได้มีผู้เล่นที่ดีที่สุดไปแข่งขัน
                               5.2.ต้องสามารถปรับและพัฒนานักกีฬาที่มีอยู่ให้มีศักยภาพสูงขึ้นได้
                               5.3.ต้องสามารถดึงความสามารถที่ดีที่สุดของนักกีฬาแต่ละคนออกมา และผสมผสานความสามารถของนักกีฬาทั้งทีมให้เล่นร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดผลการแข่งขันที่ดีที่สุดได้อย่างสม่ำเสมอ
                               5.4.ต้องมีแนวคิดและวิธีการฝึกแทคติกในการเล่นแบบต่างๆที่หลากหลายวิธี และหลายมิติ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการเล่นที่เหนือกว่าคู่ต่อสู้ มาใช้ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสำเร็จได้
                               ถ้าเราได้มีการเตรียมการในแนวทางดังกล่าวซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะคนไทยมีความผูกพันกับกีฬาฟุตบอลมากดังนั้น ถ้าผลการแข่งขันออกมาดีทุกอย่างก็จะดีไปหมด แต่ในทางกลับกันผลการแข่งขันไม่ถูกใจเมื่อใด ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะโดนเล่นงานอย่างหนักเลยทีเดียว.....